ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาทางการคลัง หลังก่อหนี้โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการแทนจนใกล้เต็มเพดานหนี้ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องมียอดหนี้คงค้างรวมกันได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้ปีงบ 65 รัฐบาลจะมีหนี้สะสมไม่เกิน 930,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ที่ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท
โดยพบว่าหนี้สะสมส่วนใหญ่ ฝังอยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีหนี้สะสมมากสุดจากโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตรถึง 600,000 – 700,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน มีหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท เช่น โครงการสินเชื่อช่วยเหลือประชาชน และยังมีในธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งหนี้สะสมที่ให้หน่วยงานรัฐทำแทน ไม่ได้ถูกนำมารวมเป็นหนี้สาธารณะ
ทั้งนี้พบว่า โครงการที่ใช้งบประมาณ และสร้างภาระทางการคลังตามมาตรา 28 ส่วนใหญ่ เป็นโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่นำเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในฤดูกาลผลิตปี 62-64 มีการขอใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจ่ายขาดเกษตรกร 2.3 แสนล้านบาท และโครงการสินเชื่ออีก 4-5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรฤดูกาลผลิตใหม่ปี 64/65 อีกกว่า 1.7 แสนล้านบาท รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ช่วงฤดูกาลผลิตปี 62/63 มีการใช้เงินช่วยเหลือเกษตรกรไป 9 โครงการ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม 7.2 พันล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 7.9 พันล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิต และช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว 4.9 หมื่นล้านบาท โครงการช่วยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 9.7 พันล้านบาท โครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย 2.8 พันล้านบาท รวมถึงได้ให้ ธ.ก.ส.เข้าไปช่วยเหลือสินเชื่อแก่เกษตรกร วงเงินกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการจำนำยุ้งฉาง สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวแก่สถาบันเกษตร สินเชื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินเชื่อเพื่อรวบรวมผลไม้
ส่วนฤดูกาลผลิตปี 63/64 มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผ่านแหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. สูงอย่างต่อเนื่องกว่า 1.1 แสนล้านบาท เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าวที่ใช้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 4.8 หมื่นล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.2 พันล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 2.7 พันล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรชาวสวนยาง 7.4 พันล้านบาท โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตชาวนา 5.3 หมื่นล้านบาท และยังช่วยผ่านโครงการสินเชื่ออีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท เช่น สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดและสร้างมูลค่าเพิ่ม โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ โครงการประกันรายได้ ฤดูกาลผลิต 64/65 ที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนออีก 5 ชนิด ใช้งบกว่า 1.74 แสนล้านบาท ได้แก่ ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 89,306 ล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.8 พันล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 1.1 หมื่นล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม 7.6 พันล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 1 หมื่นล้านบาท และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 64/65 อีก 54,972 ล้านบาท