วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2564) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนเงินทุนสำหรับ SMEs ภายใต้ “โครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประมาณ 1 แสนราย
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยภายใต้ความร่วมมือ “โครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน” ในครั้งนี้ ธนาคารออมสิน ได้ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ ประกอบด้วย สินเชื่อ GSB Smooth BIZ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท
“สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” เฟส 3 สำหรับธุรกิจ Small SMEs วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนกิจการ หรือนำไปไถ่ถอนสัญญาขายฝาก โดยได้ปลดล็อกเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น บุุคคลธรรมดาเริ่มต้นวงเงินกู้ขั้นต่ำ 300,000 บาทถึง 10 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลเริ่มต้น 300,000 บาท ถึง 50 ล้านบาท ให้กู้โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุด 70% ของราคาประเมินราชการ ไม่ตรวจเครดิตบูโร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.99% ตลอดสัญญา ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 7 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 2 ปี
นอกจากนี้ สมาชิกหอการค้าฯ ยังสามารถเลือกใช้บริการสินเชื่ออื่น ตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ตามความประสงค์ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan สำหรับ SMEs ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง / สินเชื่อ Soft Loan ธปท. เพื่อฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้ร่วมกับหอการค้าฯ ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ผ่านโครงการต่าง ๆ ของธนาคารออมสิน และสินเชื่อสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลามาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงมากขึ้น
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน และหน่วยงานต่าง ๆ ตามแนวทาง connect the dots เชื่อมจุด เชื่อมโอกาส ให้กับผู้ประกอบการอย่างแท้จริง และช่วยส่งเสริมสนับสนุนในการพัฒนาผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต และรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565” นายสนั่น กล่าว