นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แจงประเด็นข้อเรียกร้องชะลอการเรียกเงินคืน จากกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำผิดเงื่อนไขโครงการ ‘เราชนะ’
กรณีที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ประกาศระงับสิทธิ์ และเรียกเงินคืนจากผู้ประกอบการ 2,099 ราย เพราะผิดเงื่อนไขในการร่วมโครงการ ‘เราชนะ’ ว่าขอเรียกร้องไปยังกระทรวงการคลัง ให้ชะลอการเรียกเงินคืนจากกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว เพราะรายละเอียดในข้อกล่าวหายังไม่ชัดเจนเพียงพอ มีเพียงการระบุพบลักษณะธุรกรรมผิดเงื่อนไข คือรับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีประชาชนไปร้องเรียนว่าถูกกินหัวคิวจากผู้ประกอบการร้านค้า เพราะอาจเต็มใจที่จะได้เงินสด นอกจากนี้ ในการเปิดโอกาสให้ร้านค้าแสดงหลักฐานชี้แจง กรรมการผู้ตรวจก็เป็นคนของ สศค. อีกทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนเข้าร่วมโครงการก็ไม่ได้ชี้นำให้รับรู้หลักเกณฑ์ได้อย่างชัดเจน
โดยข้อชี้แจง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังขอชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องชะลอการเรียกเงินคืน จากกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำผิดเงื่อนไขโครงการเราชนะ ดังนี้ โครงการเราชนะ (โครงการฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ โดยในการเข้าร่วมโครงการฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดทำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอม (หลักเกณฑ์ฯ)
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เผยแพร่หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวในเว็บไซต์เราชนะ (www.เราชนะ.com) เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ได้รับทราบและเข้าใจหลักเกณฑ์ฯ ในการเข้าร่วมโครงการฯ และจะต้องให้ความยินยอมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวก่อนเข้าร่วมโครงการฯ
ทั้งนี้ เมื่อประชาชนและผู้ประกอบการได้ให้คำยินยอมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ในขั้นตอนการสมัครแล้ว ประชาชนจะได้รับวงเงินสิทธิช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 9,000 บาท ตลอดโครงการ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และบัตรประจำตัวประชาชน และสามารถใช้สิทธิเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อขายหรือรับบริการกันจริงผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” หรือเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ของผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้สมัครและให้คำยินยอมในการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 1.3 ล้านราย
โดยกระทรวงการคลังจะได้โอนเงินให้ผู้ประกอบการโดยตรงในวันถัดไปตามยอดธุรกรรมการใช้จ่ายเพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด เป็นต้น นอกจากนี้ ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปแจ้งเบาะแสการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีประชาชนแจ้งเบาะแสให้ทราบมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้รับการแจ้งเบาะแสหรือตรวจพบความผิดปกติของธุรกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ จะดำเนินการระงับสิทธิชั่วคราวการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับภาครัฐ และแจ้งให้ผู้ประกอบการติดต่อกลับเพื่อชี้แจงโต้แจ้ง ภายใน 14 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้ว จะได้นำเอกสารชี้แจงโต้แย้งของผู้ประกอบการเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการ
ในการตรวจสอบการดำเนินการที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ (คณะทำงานฯ) ที่มีองค์ประกอบคณะทำงานฯ จากหน่วยงานภายนอก
เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการฯ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการฯ ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย
เมื่อคณะทำงานฯ ได้ติดตามตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวจริง หรือกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ชี้แจงโต้แย้งพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีหนังสือประทับตราแจ้งผลวินิจฉัยและขอให้ชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ และผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวนี้ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการ จำนวน 2,099 ราย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564
ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว กรณีไม่มีการชี้แจงหรือไม่ส่งข้อมูลหลักฐานประกอบการอุทธรณ์ หรือไม่มีการชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ รวมถึงกรณีอุทธรณ์มาแต่คณะทำงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ก็จะมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการอีกครั้ง
ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ส่งหนังสืออุทธรณ์ ขอให้เร่งดำเนินการส่งคำอุทธรณ์หรือข้อมูลหลักฐานชี้แจงให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานฯ และกระบวนการเรียกร้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป