คปภ.มอบ “กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างป่า” กับอาสาสมัคร จำนวน 39 รายระยะเวลา 1ปี ให้ความคุ้มครอง 2 กรณีหลัก “การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และค่ารักษาพยาบาล” ขณะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่า โดยสำนักงาน คปภ. สนับสนุนด้วยเงินสวัสดิการกว่า 23,517 บาท และบมจ. วิริยะประกันภัย เป็นผู้รับประกันภัย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มแก่บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและราษฎรที่มีจิตอาสาในการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่า ในตำบลสาลิกา อำเภอเมือง และตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่าที่มาทำความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีคณะผู้บริหาร ของสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และคณะผู้บริหาร ของจังหวัดนครนายก ร่วมส่งมอบกรมธรรม์จำนวน 39 ราย ให้กับนายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ณ โรงแรมรอยัล ฮิลล์ จังหวัดนครนายก
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่สนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มดังกล่าว ซึ่งการรับมอบในครั้งนี้ มีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับอาสาสมัครผู้ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ โดยไม่มีค่าตอบแทนและสวัสดิการใด ๆ รองรับ อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับอาสาสมัครได้อุ่นใจในขณะปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่าอีกด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครนายก ได้บูรณาลงพื้นที่และทราบการขอการสนับสนุนการประกันภัย เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยของผู้ปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่า ในตำบลสาลิกา อำเภอเมือง และตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี จากผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน และส่งเสริมการทำประกันภัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่า เนื่องจากเป็นภารกิจที่มีอันตรายและมีความเสี่ยงสูง หากไม่มีผู้ที่มีจิตอาสาเข้ามาปฏิบัติภารกิจดังกล่าว อาจทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการบุกรุกของช้างป่าที่มาทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินมากขึ้น
อีกทั้ง ที่ผ่านมา พบว่า เหล่าผู้ปฏิบัติหน้าที่และอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่าได้รับบาดเจ็บจากช้างป่าทำร้ายร่างกายอยู่บ่อยครั้ง โดยที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่และอาสาสมัครเหล่านั้นไม่ได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่มีสวัสดิการรองรับที่เพียงพอกับความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้น จึงได้สนับสนุนการประกันภัยให้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระครอบครัวและรองรับความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต และร่างกาย
ด้วยการมอบ “กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างป่า” ให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่และอาสาสมัคร จำนวน 39 ราย ซึ่งมีระยะเวลาเอาประกันภัยขณะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่า ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ด้วยเบี้ยประกันภัย 603 บาทต่อราย ให้ความคุ้มครองใน 2 กรณีหลัก ได้แก่ กรณีการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุทั่วไปขณะเข้าปฏิบัติภารกิจ รวมถึงอุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ และการถูกฆาตกรรมหรือลอบทำร้ายร่างกาย ให้ความคุ้มครองเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท และกรณีค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ให้ความคุ้มครองเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000 บาท โดยสำนักงาน คปภ. สนับสนุนด้วยเงินสวัสดิการของสำนักงานฯ เป็นค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 23,517 บาท และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกันภัย
“ต้องขอชื่นชมและยกย่องผู้ที่มีจิตอาสาปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยง ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละ สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการต่าง ๆ อย่างเต็มที่และเพียงพอ ดังนั้น เพื่อให้กลุ่มอาสารักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและการดูแลเฝ้าระวังจากการบุกรุกของช้างป่า มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจต่อไป สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ เอกชนและชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่เสียสสะ และหวังว่าระบบประกันภัยจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย