ผู้ว่าธปท. “เศรษฐพุฒิ”ย้ำ 3โจทย์แก้ปม เหลื่อมล้ำ-เศรษฐกิจไทยโตทั่วถึง

28 พ.ย. 2564 | 04:17 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2564 | 11:46 น.

ผู้ว่าธปท. “เศรษฐพุฒิ” ทำ 3โจทย์แก้ปม เหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจไทยโตแบบยั่งยืน ทั่วถึง “ เพิ่มโอกาสให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากดิจิทัล ข้อมูลเต็มที่ -วางระบบที่เอื้อให้เท่าทันความเสี่ยงที่มากับDigital-ออกแบบแรงจูงใจหนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนอย่างราบรื่น”

ผู้ว่าธปท. “เศรษฐพุฒิ” ทำ 3โจทย์แก้ปม เหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจไทยโตแบบยั่งยืน ทั่วถึง “ เพิ่มโอกาสให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากดิจิทัล  ข้อมูลเต็มที่ -วางระบบecosystemภาคการเงินบาลานระหว่างสนับสนุนนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง ทั้งการป้องกัน รับมือภัย cyber หลอกลวง ข้อมูลรั่วไหล-เตรียมกลไกภาคการเงิน และออกแบบแรงจูงใจหนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนอย่างราบรื่น

ผู้ว่าธปท. “เศรษฐพุฒิ”ย้ำ 3โจทย์แก้ปม เหลื่อมล้ำ-เศรษฐกิจไทยโตทั่วถึง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวในหัวข้อ “The Future of Thai Economy and Finance”โดยระบุว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยต้อง inclusive กว่าเดิม ต้องโตแบบทั่วถึงจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะถ้าไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth ให้ไปแชร์ในวงกว้าง และจะไม่สามารถโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่ทั่วถึง 3ส่วน คือ  1: ตระกูลรวยที่สุด 50 อันดับแรกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน สะท้อนให้เห็น “ช่องว่าง” ระหว่างคนจนและคนรวย ที่เกิดจากการเติบโตของรายได้และความมั่งคั่งเฉพาะในบางกลุ่มมาเป็นเวลานาน

 

 

 2:  50% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งประเทศ กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เพียง 600 รายในตลาดหลักทรัพย์  สะท้อนความได้เปรียบของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ปัจจุบัน SMEs ในไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน SMEs จึงมีโอกาสน้อยที่จะไล่ตามบริษัทขนาดใหญ่

 

และ 3: เกือบ 2 ใน 3 ของผลผลิตของเศรษฐกิจโดยรวม กระจุกตัวอยู่เพียง 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม เช่น ชลบุรี ระยอง และจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต แสดงให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงบางพื้นที่

 

“จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราคงจะโตไปแบบเดิม ๆ ที่หวังพึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากเพียงบางกลุ่มคน บางกลุ่มธุรกิจ และบางพื้นที่ แบบไม่ทั่วถึงไม่ได้แล้ว เห็นได้จาก 40 ปีที่ผ่านมา ในทศวรรษ 1980 เราเคยโตได้ถึง 10% แต่ในทศวรรษนี้ เราโตเหลือไม่ถึง 4% และจะต่ำกว่านี้อีกในอนาคตถ้าไม่มีการปรับตัว”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวเพิ่มเติว่า การเติบโตที่ไม่ทั่วถึงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ล่าสุดเร่งตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90% ของ GDP โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เทียบกับ 10 ปีที่แล้ว   หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน หากรายได้ไม่โต

ทางเดียว คือ ต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำไปใช้จ่าย แต่ด้วยภาระหนี้ที่สูงอยู่เดิม ยิ่งทำให้ก่อหนี้เพิ่มได้ยาก แล้วเศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปด้วยความลำบาก

ขณะที่ อนาคตเศรษฐกิจการเงินมองไปข้างหน้า  2 กระแสที่จะมาแน่นอน คือ Digital และ Green ซึ่งทั้งสองกระแสนี้ มีศักยภาพที่จะเพิ่ม inclusion Growth ได้มากกว่าเดิม แต่ก็มีโอกาสที่อาจจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน

 

แนวทางดำเนินนโยบายของธปท.นั้น มีโจทย์สำคัญ อย่างน้อย  3 เรื่อง  ได้แก่โจทย์แรก คือ ทำให้ภาคการเงินส่งเสริม inclusion ด้วยการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital และข้อมูลได้เต็มที่ เช่น การมี Digital ID ที่จะพาคนเข้าสู่โลก Digital ได้สะดวก ปลอดภัย สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องไปสาขา รวมถึงสมัครใช้บริการทางการเงินประเภทอื่น ๆ โดยยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันได้

 

สำหรับ SMEs ก็จะสามารถทำธุรกิจบนระบบ Digital ได้แบบ end-to-end ตั้งแต่วางบิล จ่ายเงิน บริหารคลังสินค้า เหมือนระบบของบริษัทใหญ่ ซึ่งจะเป็น digital footprint ที่จะใช้ต่อยอดเป็นข้อมูลในการขอสินเชื่อได้ ซึ่งการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในวงกว้างขึ้นในอนาคต จะเอื้อให้เกิดกลไกการค้ำประกันเครดิต ให้ทุกกลุ่ม ทั้งประชาชน SMEs และบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม

ธปท. กำลังผลักดันนโยบายในทิศทางนี้ ด้วยแนวทาง 3 Open

(1) Open Infrastructure คือ มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เปิดกว้าง ให้ผู้ให้บริการที่หลากหลายสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกบริการ Digital ที่ตอบโจทย์มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ จะรวมถึงการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่รองรับการต่อยอดนวัตกรรมของภาคธุรกิจในอนาคตด้วย

 

(2) Open Data โดยการผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกภาคการเงิน เพื่อให้ digital footprint ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง ไม่เกิดการผูกขาดข้อมูลโดยบริษัทรายใหญ่ไม่กี่ราย

 

(3) Open Competition ในการสนับสนุนให้ผู้เล่นหน้าใหม่และหน้าเดิม สามารถแข่งขันกันบน level-playing field เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน

 

โจทย์สองที่สำคัญ คือ การมีระบบที่เอื้อให้เราเท่าทันความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี Digital ทั้งการป้องกันและรับมือกับภัย cyber และการหลอกลวง (fraud) รวมทั้งมีกลไกป้องกันความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหล ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เกิดได้เร็ว และมีแต่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยในปี 2020 cyber attack ทั่วโลก ได้สร้างความเสียหายมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ  ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้ ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการใช้งาน Digital ของประชาชนและธุรกิจไทย และขณะเดียวกันต้องรู้เท่าทันความเสี่ยง เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital ได้อย่างมั่นใจ สบายใจ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น

โจทย์สุดท้าย คือ การเตรียมกลไกภาคการเงิน และออกแบบแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น โดยที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ร่วมกันพัฒนา “ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน”

 

เช่น มีมาตรการจูงใจเพื่อสร้างตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีคุณภาพ และมองไปข้างหน้า ภาคการเงินจะต้องเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการดำเนินงาน เพื่อช่วยให้ปรับตัว โดยเฉพาะรายเล็กที่จะต้องได้รับโอกาสเพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกใหม่

ทั้งนี้ ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่ 2กระแสข้างต้น( Green ,Digital)จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและมีความไม่แน่นอนสูง การรักษาเสถียรภาพหรือ stability ให้กับภาคการเงินจะยังมีความสำคัญ เพราะต้องมั่นใจว่าผู้ให้บริการทางการเงินยังสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอย่าง SMEs และประชาชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง และต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน หรือกลายมาเป็น shock amplifier จนกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

 

มองไปข้างหน้า หากเราจะมุ่งรักษา stability เพียงอย่างเดียว ผ่านการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อดูแลความเสี่ยงจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งอาจไปจำกัดขอบเขตการทำธุรกิจ ทำให้ต้อง trade-off กับประโยชน์จากนวัตกรรมที่ผู้ใช้บริการและระบบเศรษฐกิจจะได้รับ เราควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง resilience มากกว่าการรักษา stability เพียงอย่างเดียว เพราะคำว่า resilience แม้ในภาษาไทยจะแปลว่า “ความเข้มแข็งมั่นคง” เหมือนกับ stability แต่ resilience กินความหมายกว้างกว่านั้น เพราะยังสื่อรวมไปถึงความสามารถในการฟื้นตัวหรือรับมือกับ shocks ต่าง ๆ ได้

“Ecosystem” ของภาคการเงิน จะต้อง balance ให้ดี ระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงที่จะตามมา ไม่ให้กระทบภาคการเงินในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่ resilience ที่แท้จริงที่จะสนับสนุนให้ระบบการเงินทำหน้าที่ได้ดี สามารถกระจาย resource และโอกาสทางการเงินไปสู่ผู้ที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม เป็น enabler ให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน มั่งคั่ง ทั่วถึง