นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.คาดการณ์ว่าในสิ้นปีงบประมาณ 65 หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 62.69% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไม่ถึง 70% ตามกรอบวินัยการเงินการคลังที่ขยายไว้ โดยเพิ่มจากปัจจุบันที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ 58.76% ของจีดีพี ทั้งนี้การที่รัฐบาลขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ เป็นการเปิดช่องว่างให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มหากมีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งยังสามารถกู้ได้อีกประมาณ 1.2 - 1.3 ล้านล้านบาท
สำหรับความเสี่ยงของรัฐบาลในเรื่องการบริหารหนี้สาธารณะต่อจากนี้ มี 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลสูงขึ้นตามไปด้วย และ 2.การกระจุกตัวของหนี้สาธารณะที่ครบกำหนดในช่วง 2 -3 ปีข้างหน้ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่โดยมากเป็นการกู้ระยะสั้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สบน. ได้ดำเนินการบริหารความเสี่ยงและปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้หนี้ของรัฐบาลมีการกระจายตัวอย่างเหมาะสมภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินและรุ่นอายุที่หลากหลาย อาทิ การทำบอนด์สวิทชิง หรือ การทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนตราสารหนี้รุ่นเดิมที่นักลงทุนถือครองอยู่ กับตราสารหนี้รุ่นอื่น และการออกพันธบัตรทำเป็นตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของหนี้ โดยมีความสอดคล้องกับภาวะตลาดและความต้องการของนักลงทุนภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึงแบ่งเบาการนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้ชำระหนี้จนมากเกินไป ซึ่งอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังได้
ขณะที่แผนบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2565 มีมติ ครม. วันที่ 28 ก.ย.64 กำหนดกรอบแผนบริหารหนี้สาธารณะ แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ
“แผนบริหารหนี้ดังกล่าว สามารถปรับปรุงได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจที่ทำขึ้นมาเพื่อโดยประเมินการณ์สิ่งที่ต้องการใช้ ซึ่งแผนบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจจะมีการก่อหนี้ 2 ส่วน คือ การกู้เพื่อการลงทุน และการกู้เพื่อดำเนินการของหน่วยงานนั้นเอง ซึ่ง สบน. ในฐานะผู้บริหารหนี้ ก็อยากเห็นการกู้เพื่อการลงทุนเป็นไปตามแผน ไม่อยากให้มีการปรับ เพราะการลงทุนเกิดผลทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ส่วนการก่อหนี้เพื่อบริหารการดำเนินงานของหน่วยงานเอง หากไม่มีการเบิกจ่ายถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะสะท้อนว่าหน่วยงานนั้นมีเงินหมุนเวียนมากพอ” นางแพตริเซีย กล่าว
ผอ.สบน. กล่าวด้วยว่า ในการบริหารหนี้เดิม จะถูกรวมอยู่ในตัวเลขหนี้สาธารณะแล้ว ดังนั้นจะนับเฉพาะในส่วนของหนี้ใหม่เท่านั้น คือ 1.12 ล้านล้าน พร้อมย้ำรัฐบาลยังมีวินัยในการชำระหนี้ โดย พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.63 ที่กำหนดให้ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระ ไม่น้อยกว่า 2.5- 4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณนี้ สำนักงบประมาณจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้ส่วนของหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระราว 3% ของงบประมาณรายจ่าย หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท
สำหรับการปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะนั้น กฎหมายได้กำหนดให้มีการทบทวนทุกๆ 3 ปี ซึ่งมี 2 เงื่อนไข คือ ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 รายได้ประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลไม่มีความต้องการใช้เงินเพิ่ม ก็สามารถลดกรอบกลับมาอยู่ที่ 60% ของจีดีพีได้ แต่ถ้าหากสถานการณ์โควิด-19 ยังลากยาว หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ในการลงทุนและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ก็ยังสามารถคงกรอบเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 70% ได้ เพื่อให้มีความคล่องตัว โดยเบื้องต้น สบน.คาดน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 5 ปีที่จะปรับกรอบวินัยการคลังลงไประดับปกติ