เมื่อเร็ว ๆนี้ ข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างอิงแหล่งข่าว ระบุว่า ธนาคารซิตี้กรุ๊ป ได้เลือกผู้ซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อย ( Retail Consumer) ของธนาคารซิตี้กรุ๊ปในตลาดเอเชียแล้ว รวมถึงธุรกิจของซิตี้กรุ๊ปในไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขายธุรกิจของซิตี้กรุ๊ปจำนวนมากในตลาดหลายประเทศทั่วเอเชีย
โดยในไทยได้เลือกธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ให้เป็นผู้ชนะการประมูลซื้อพอร์ตธุรกิจสินเชื่อแล้ว ด้วยมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 67,500 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขของข้อตกลงในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
หากดีลนี้สำเร็จส่งผลอย่างไรต่อธนาคารกรุงศรีฯ ?
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2488 เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2520 และมีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีสินทรัพย์รวม 2,489,288 ล้านบาท เงินฝาก 1,782,940 ล้านบาท และเงินให้สินเชื่อ 1,854,229 ล้านบาท และว่าไปขนาดสินทรัพย์ยังทิ้งห่างธนาคารคู่แข่งอันดับ 4 อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB ) ที่มี 3,272,204 ล้านบาท น้อยกว่าอยู่ 31%
อย่างไรก็ดี ธนาคารกรุงศรี ฯ กลับครองส่วนแบ่งตลาดลูกค้ารายย่อยมากเป็นอันดับ 1 ในไทยสำเร็จ และปรากฏการณ์ที่เห็นชัด ก็คือได้พันธมิตร อย่าง "จีอี แคปปิตอลฯ" สถาบันการเงินเพื่อรายย่อยชั้นนำของโลก เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 33% ตั้งแต่ช่วงปี 2550 รวมถึง กลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป ( MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินใหญ่สุดในญี่ปุ่นและของโลก เข้ามารับไม้ต่อถือหุ้นแทนจีอี เมื่อปลายปี 2556 ปัจจุบัน MUFG ถือหุ้นใหญ่ 76.88% ซึ่งเดินยุทธศาสตร์ชัดเจนตลอดช่วง 13 ปี กับแผนซื้อและควบกิจการ " ธุรกิจลูกค้ารายย่อยในไทยมาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากดีลสำคัญ ๆ ตามไทม์ไลน์ดังต่อไปนี้
ย้อนไทม์ไลน์ 13 ปี ธนาคารกรุงศรี ซื้อ-ควบกิจการ
- 14 กุมภาพันธ์ 2551 ธนาคารฯ เข้าซื้อกิจการบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (GECAL) โดย ณ วันโอนกิจการ GECAL มีสินทรัพย์รวม 78,010 ล้านบาท และเงินให้สินเชื่อสุทธิรวม 75,283 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารฯ เติบโตขึ้น 17% ณ วันโอนกิจการ และต่อมา GECAL เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL).
- 8 เมษายน 2552 ธนาคารฯ เข้าซื้อหุ้นธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) (AIGRB) และบริษัท เอไอจี คาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด (AIGCC) เสร็จสมบูรณ์ ในราคารวม 1,605 ล้านบาท ทำให้ธนาคารฯ มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 32,800 ล้านบาท มีฐานสินเชื่อเพิ่มขึ้น 21,900 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 18,600 ล้านบาท และมีจำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นประมาณ 222,000 บัตร
- 9 กันยายน 2552 ธนาคารฯ เข้าซื้อกิจการบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิสเซส จำกัด (CFGS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ จำกัด เสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ CFGS เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการไมโครไฟแนนซ์โดยเฉพาะสินเชื่อที่ใช้ทะเบียนรถเป็นหลักประกัน มีเครือข่ายสาขากว่า 163 แห่งทั่วประเทศ และเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “เงินติดล้อ”
- 5 พฤศจิกายน 2552 ธนาคารฯ เข้าซื้อธุรกิจการเงินเพื่อผู้บริโภคของจีอี แคปปิตอล ในประเทศไทย เสร็จสมบูรณ์ การเข้าซื้อครั้งนี้ทำให้ธุรกิจการเงินเพื่อลูกค้ารายย่อยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเติบโตเร็วขึ้น และทำให้สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 36% เป็น 42% ของสินเชื่อรวม และจะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารเพิ่มขึ้น ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และความหลากหลายยิ่งขึ้นในบริการหลักของธุรกิจการเงินเพื่อลูกค้ารายย่อยของธนาคาร การผนวกธุรกิจของจีอี มันนี่ ประเทศไทย เข้ากับธนาคาร ทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยากลายเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนบัตรหมุนเวียนในระบบมากกว่า 3 ล้านใบ และให้บริการลูกค้ากว่า 8 ล้านราย
-ในเดือนมีนาคม 2556 ธนาคารกรุงศรีอยุธยารับโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อยของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) ซึ่งประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจเงินฝาก มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิ 3,600 ล้านบาท ส่งผลให้สินทรัพย์ของกรุงศรีเพิ่มขึ้น 17,500 ล้านบาทหรือเติบโต 1.8% และทำให้สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นจากระดับ 45% เป็น 46% ของสินเชื่อรวม
- 5 มกราคม พ.ศ. 2558 ธนาคารประสบความสำเร็จในการดำเนินการควบรวมกิจการของธนาคารและบีทีเอ็มยู (BTMU) สาขากรุงเทพฯ ทั้งนี้ธนาคารกรุงศรียังได้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,281,618,026 หุ้นให้แก่บีทีเอ็มยูเพื่อแลกกับการควบรวมกิจการของบีทีเอ็มยูสาขากรุงเทพฯ
- 13 กันยายน 2559 ธนาคารกรุงศรีเข้าซื้อ Hattha Kaksekar Limited (HKL) ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ชั้นนำในกัมพูชา เข้าเป็นบริษัทย่อยของธนาคารการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จครั้งสำคัญของกลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศและโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ซึ่งต่อมา เดือนสิงหาคม 2563 Hattha Kaksekar Limited (HKL ) ได้รับอนุมัติจากทางการยกระดับเป็นธนาคาร
- เดือนตลาคม ุ 2563 กรุงศรีเข้าซื้อหุ้น 50% ใน SB Finance Company, Inc. ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์
ปิดดีล"ซิตี้แบงก์"กวาดพอร์ตเพิ่ม 7.5 หมื่นล้าน
- ล่าสุด 7 ธันวาคม 2564 มีกระแสข่าวว่า ซิตี้กรุ๊ป ประกาศเลือกให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ชนะในการซื้อกิจการธุรกิจรายย่อยของซิตี้แบงก์ในไทยด้วยวงเงิน 67,500 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าพอร์ตของซิตี้แบงก์ไทย ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 75,000 ล้านบาท
ข้อมูลจากงบการเงินของธนาคารกรุงศรีฯ ระบุว่า โครงสร้างสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ธนาคารกรุงศรี ฯ มียอดสินเชื่อคงค้าง1,854,229 ล้านบาท เป็นพอร์ตสินเชื่อรายย่อย 48% เป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 กล่าวคือ
และข้อมูล ณ สิ้นปี 2563 ธนาคารเป็นผู้นำตลาดลูกค้ารายย่อย รวมทุกผลิตภัณฑ์กว่า 9 ล้านบัญชี มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตร 3.2 แสนล้านบาท
หาก "ซิตี้แบงก์"เลือกธนาคารกรุงศรีฯ เป็นผู้ชนะดีลซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อยในไทยที่มีมูลค่าพอร์ต 75,000 ล้านบาท ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า หลังเสร็จสิ้นดีลนี้ พอร์ตสินเชื่อรายย่อยของธนาคารคาดจะเพิ่มเป็น 49-50 % ของพอร์ดสินเชื่อรวม โดยเฉพาะฐานลูกค้าบัตรเครดิต และยิ่งทิ้งห่างคู่แข็ง เบอร์ 2 อย่างธนาคารกสิกรไทยมากขึ้น รุดเติบโตทางลัดจากแบ็กอัพ MUFG ที่ปึ๊กทั้งฐานธุรกิจรายย่อยและทุนนั่นเอง.
ข้อมูลอ้างอิง : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา , ตลท., Citi Picks Favorites for Over $3 Billion in Asia Sales