อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.61 บาทต่อดอลลาร์"อ่อนค่า"ลงเล็กน้อย
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.59 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากความกังวลการระบาดของโอมิครอนในประเทศ ซึ่งต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เพราะช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม แต่โฟลว์นักลงทุนต่างชาตอาจกลับทิศทางได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะโฟลส์บอนด์ระยะสั้น ที่จะสามารถสะท้อนภาพการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้
ทั้งนี้ เรามองว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลง ก็อาจเผชิญแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ก่อน และหากอ่อนค่าต่อ ก็จะสามารถทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ สัญญาณในเชิงเทคนิคัลยังคงสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในระยะสั้น ทำให้เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่ารุนแรง หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยอย่างหนัก ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.75 บาท/ดอลลาร์
บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลว่า การกลับมาใช้มาตรการ lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของโอมิครอน อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องปรับลดวงเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก 2 ล้านล้านดอลลาร์ลง ส่งผลให้ ดัชนี Nasdaq ปิดตลาด -1.24% และดัชนี S&P500 ก็ย่อตัวลง -1.14%
เช่นเดียวกันกับฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวลงต่อ -1.30% หลังผู้เล่นในตลาดมองว่า การระบาดของโอมิครอนอาจกดดันให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจชะลอลง
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงใกล้ระดับ 1.35% แต่สุดท้าย มุมมองของผู้เล่นที่เชื่อว่า เฟดจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ก็ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่เลือกที่จะขายทำกำไร sell on rally ทำให้บอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นมา สู่ระดับ 1.42% อีกครั้ง
แม้เรายังเชื่อว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อในอนาคต จากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของบรรดาธนาคารกลาง แต่ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาว ก็อาจถูกกดดันจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าปัจจัยเสี่ยงการระบาดโอมิครอนจะมีความน่ากังวลลดลง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดของโอมิครอน ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.56 จุด ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ ราคาทองคำ ย่อตัวลง แม้ว่าตลาดโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งคาดว่า ราคาทองคำจะแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ต่อในระยะสั้น แต่ เราคงมองว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อแรงได้ยาก และ Upsides ของราคาทองคำเริ่มจำกัด
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนทั่วโลก ซึ่งอาจกดดันตลาดการเงินได้ในระยะสั้นต่อ หากรัฐบาลทั่วโลกต่างใช้นโยบายควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งในฝั่งประเทศไทย ตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอน ซึ่งหากพบว่า มีการระบาดในแบบคลัสเตอร์ก็อาจกดดันให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทยได้และส่งผลให้ เงินบาทอาจอ่อนค่าลงกลับไปสู่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ในระยะสั้น หากสถานการณ์การระบาดดูน่ากังวล