ในงานเสนวนาส่งท้ายปี กับเครือเนชั่น “THAILAND NEXT Sustainability Goal คำตอบธุรกิจสู่ “ความยั่งยืน” คุณวาสินี ศิวะเกื้อ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงิน และ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืน ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารเป็นสถาบันการเงินหลักที่มีบทบาทในการส่งเสริมความยั่งยืนผ่านการเป็นตัวกลางในการส่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจ หรือ ตัวเงิน จากผู้ออมหรือผู้ฝากเงินไปยังผู้กู้ที่มีความต้องการใช้สินเชื่อ ดังนั้นธนาคารจึงจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจควบคู่ความรับผิดชอบ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี หรือ ESG โดยต้องปรับมาตรฐานการให้บริการไปพร้อมกับการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปภายใต้ความยั่งยืน ทั้งนี้หลายๆ ธุรกิจ ต่างยอมรับแล้วว่า หากมีการผสานความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจจะมีความได้เปรียบและประสบความสำเร็จในระยะยาว
ทั้งนี้ ยูโอบี เป็น 1 ในสถาบันการเงินระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการตระหนักในบทบาทเป็นอย่างดี ถึงความรับผิดชอบที่ส่งผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยการพิจารณาความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ มีการประเมินและจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ตลอดจนความท้าทาย ผลกระทบและโอกาสต่างๆ ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่สำคัญ
โดย ยูโอบี ได้วางกลยุทธ์ความยั่งยืน คือ 1 มุ่งเน้นสร้างสมดุลการเติบโตของธุรกิจควบคู่กับความมั่นคง 2.การมุ่งเน้นสนับสนุนลูกค้ากลุ่มธุรกิจ ให้เติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ ผ่านการสนับสนุนเงินทุนอย่างยั่งยืน 3.กลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยมุ่งเน้นเพิ่มพูนความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงและยั่งยืน และ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และความเป็นอยู่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา ยูโอบีประเทศไทย ได้เปิดตัวทางออกทางการเงินเพื่อความยั่งยืนเพื่อลูกค้า โดยเน้นไปที่ลูกค้าองค์กร ผ่าน 3 กรอบแนวคิด คือ 1.กรอบการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อเมืองอัจริยะ หรือ UOB Smart City Sustainable Finance Framework โดยได้อนุมัติสินเชื่อสีเขียวไปแล้วกว่า 1.3 พันล้านบาท ให้กับโครงการโซล่ารูฟ ท็อป ซึ่งเป็นกิจการที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
2.กรอบการให้สินเชื่อวงจรสีเขียว หรือ Green Finance for Circular Economy Framework โดยได้สนับสนุน International Trade Finance หรือ สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศกับบริษัทรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ไปแล้ว และ 3. กรอบการให้สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน หรือ Real Estate Sustainable Finance Framework โดยได้อนุมัติให้สินเชื่อไปแล้ว 450 ล้านบาท ให้กับโครงการโกดังสินค้า ทั้งนี้ในระยะถัดไปยังเตรียมออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง
“การเข้าถึงสินเชื่อที่ยั่งยืนของยูโอบีทั้ง 3 Framework ข้างต้น ได้มีการกำหนดคุณสมบัติกฎเกณฑ์ของลูกค้าที่เข้าข่าย ซึ่งลูกค้าสามารถนำไปต่อยอดวางกลยุทธ์ที่ยั่งยืนของธุรกิจได้ ทั้งองค์กรขนาดใหญ่และรายย่อย ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่” คุณวาสินี กล่าว
ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้ารายย่อย ยูโอบีประเทศไทย ได้ตอบสนองแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะต้องมีการพิจารณาสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ คือ ดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก ดูรายได้ วงเงินสินเชื่อที่อนุมัติต้องมีความสอดคล้องและไม่ก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต
ทั้งนี้ ธนาคารยูโอบีประเทศไทย ได้ดำเนินการตาม 4 เสาหลักของความยั่งยืน โดยดูจาก 4 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลัก กลุ่มแรก คือ ตัวเอง ที่ต้องเติบโตและสร้างสมดุลแห่งความยั่งยืนควบคู่กับความมั่นคง กลุ่มที่ 2 คือ ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับลูกค้า กลุ่มที่ 3. กลุ่มพนักงาน โดยได้พัฒนาบุคลากรให้เกิดความชำนาญในสิ่งที่ทำ ซึ่งมีการทำแบบสอบถามต่อเนื่องเพื่อนำมาปรับปรุง โดยเฉพาะความเห็นที่เป็นประโยชน์ ยูโอบีก็จะเข้าไปดำเนินการเพื่อให้พนักงานสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ และ 4.ชุมชน ที่จะต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการดำเนินธุรกิจขององค์กร
“อยากเห็นการเร่งประชาสัมพันธ์แนวคิดในเรื่องของความยั่งยืนไปสู่ภาคครัวเรือนมากยิ่งขึ้น เพราะแนวทางเรื่องของความยั่งยืน ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะแค่องค์กรขนาดใหญ่ แต่จะต้องเริ่มจากฐานราก และต้องมีการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชวิต” คุณวาสินี กล่าว