หลักทรัพย์บัวหลวงชี้ SET Index ปี65 มีโอกาสแตะ 1,800 จุด

22 ธ.ค. 2564 | 12:07 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2564 | 19:07 น.

หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินหุ้นไทยปี 2565 ลุ้นแตะ 1,800 จุด รับเศรษฐกิจฟื้นตัว กำไรบริษัทจดทะเบียนขยายตัวต่อ ย้ำระหว่างทางดัชนีอาจผันผวน หลังต้องเผชิญแรงกดดันเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า แนะวิธีรับมือด้วยกลยุทธ์สร้างสมดุลของพอร์ต กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางปี 2565 มองเป้าหมายดัชนี(SET Index) สิ้นปี มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปใกล้ระดับ 1,800 จุด  โดยมีแนวรับและแนวต้านระยะสั้นอาจอยู่ 1,580 จุด และ 1,650 จุด ตามลำดับ ขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรคาดการณ์ ปี 2565 (P/E)และกำไรต่อหุ้น (EPS)อาจอยู่ 18 เท่า และ 98 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ  

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด(มหาชน)

“เรามองสูงกว่าค่าเฉลี่ยนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ 96 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด -19 และประกาศล็อกดาวน์ที่อยู่ 86 บาทต่อหุ้นในปี 2562 เนื่องจากคาดว่า เศรษฐกิจภายในประเทศจะขยายตัว 4.1% และกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยโตต่อเนื่องจากปี 2564 หลังคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวกลับมา แม้จะมีสายพันธุ์ใหม่อย่าง   โอไมครอน ปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามา”นายชัยพรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางดัชนีอาจมีความผันผวน เพราะยังต้องเผชิญแรงกดดันหลายเรื่อง เช่น คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2565 เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 คณะกรรมการมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0.00-0.25% และเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.2565

 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน, การแพร่ระบาดของโอไมครอน,การเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย.2565, ประเทศยุโรปอาจปรับเพิ่มดอกเบี้ยช่วงครึ่งหลังปี 2565 และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของประเทศจีนที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดล้วนทำให้กระแสเงินไหลเข้าออกภูมิภาคอาเซียนและเกิดการผันผวนมากขึ้น ฉะนั้นนักลงทุนอาจต้องจับตาเรื่องเหล่านี้ต่อเนื่อง เพื่อจะได้ปรับแผนการลงทุนได้ทันเหตุการณ์

สำหรับกลยุทธ์ลงทุนในปี 2565 แนะกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อให้พอร์ตมีความสมดุล ยืดหยุ่น และรับมือกับดัชนีที่อาจปรับตัวขึ้นลงในปีหน้า โดยให้แบ่งสัดส่วนลงทุนใน “ทองคำ” 10%, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) 10%, ตราสารหนี้ 10%, เงินสด 5%, ส่วนการลงทุนใน “ตลาดหุ้น” แนะให้ลงทุนในสัดส่วน 65% เน้นกระจายตัวใน “หุ้นไทย” 12% “หุ้นเวียดนาม” 17% “หุ้นสหรัฐฯ” 22% ที่เหลือลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นและจีน

 

สำหรับ “กลุ่มหุ้นเด่น” ที่ต้องมีติดพอร์ตก่อนปี 2565 คือ

  1. กลุ่มการบริโภค เพราะราคาหุ้นกลุ่มนี้ยังปรับตัวขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้รับประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้น CRC, CBG และ CPALL
  2. กลุ่มสถาบันการเงิน คาดว่าได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจนกระทั่งไตรมาสสุดท้ายปี 2565
  3. กลุ่มด้านเทคโนโลยี Platform, การบริหารข้อมูลด้านการตลาด และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นมากขึ้น จากการแข่งขันที่สูงในภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  4. กลุ่มที่เคลื่อนไหวไปตามสถานการณ์โควิด-19 เช่น กลุ่มโรงพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์   แต่ที่ผ่านมาราคาปรับขึ้นต่อเนื่อง เราแนะคงสัดส่วนการลงทุนไว้เช่นเดิม
  5. กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี มองว่า ราคาน้ำมันดิบอาจไปได้ไม่ไกล หลังรัฐบาลทั่วโลกลงนามสนธิสัญญาลดคาร์บอน โดยราคาน้ำมันดิบปี 2565 อาจเฉลี่ยราว 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
  6. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แนะเพิ่มสัดส่วน เพราะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการ และสนับสนุนการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ดีแนะให้ลดสัดส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะได้แรงหนุน จากเทรนด์ Metaverse และในปีหน้ากำไรขยายตัวต่อ แต่ปัจจุบันราคา Upside เหลือน้อยแล้ว จากมูลค่าที่ค่อนข้างแพงมาก

 

สำหรับภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนราว 13% ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ติดลบ 9.13% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นแตะระดับ 80,000-100,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ 50,000 ล้านบาท หนุนด้วยปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนดีกว่าปี 2563

 

ขณะที่ยอดเปิดบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ก็มีตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากยอดเปิดบัญชีใหม่ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำยาวนานหลายปี บวกกับมาตรการ Work From Home ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องทำงานและเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ส่งผลให้มีเวลาว่างมากขึ้น หลายคนจึงแบ่งเงินออมมาลงทุน เพื่อหาโอกาสเพิ่มผลตอบแทนที่มากกว่าฝากเงินรับดอกเบี้ย