“คณิศ” แย้มมาตรการส่งเสริม EV ดีมาก มั่นใจไม่ใช่แค่รถยนต์ทางเลือก

23 ธ.ค. 2564 | 09:46 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 16:55 น.

“คณิศ” เลขาธิการ สกพอ. เผยเห็นแพคเกจส่งเสริมรถยนต์ EV แล้ว ชี้ดีมาก คาดบอร์ด EV เสนอ ครม. เร็วๆนี้ มั่นใจไม่ใช่รถยนต์ทางเลือก พร้อมเดินหน้าติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้า ใน EEC คาดกลางปี 65 มีไม่ต่ำกว่า 300 แห่ง และภายใน 5 ปี ไทยจะผลิตรถยนต์ EV ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

นายคณิศ  แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เห็นแพคเกจมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ หรือ รถยนต์ EV ในประเทศแล้ว ยอมรับว่าเป็นแพคเกจที่ดีมาก และเชื่อว่าจะจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ EV รวมทั้งดึงดูดให้ค่ายรถยนต์หันมาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ซึ่งคาดว่าบอร์ด EV จะนำเสนอในที่ประชุม ครม. เร็วๆ นี้

 

“นโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีความคืบหน้าและมาได้ไกลมาก ซึ่งณะนี้ในพื้นที่ EEC เริ่มมีการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว คาดในช่วงกลางปี 2565 จะมีไม่ต่ำกว่า 300 แห่ง ขณะที่การผลิตรถยนต์ในไทยจากปัจจุบันที่ 2 ล้านคันต่อปี ก็จะถูกปรับสัดส่วนให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 1 ล้านคัน เป็นการผลิตรถยนต์ EV ภายใน 5 ปี” นายคณิศ กล่าว

 

นายคณิศ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์ยุโรป อย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ได้ยืนยันแล้วว่าจะปรับสายการผลิตไปสู่รถยนต์ EV ทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่ารถยนต์ EV ไม่ใช่รถยนต์ทางเลือก ขณะที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ก็เริ่มมีแผนที่จะปรับสายการผลิตเป็นรถยนต์ EV รวมทั้งจีน ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหม่ ก็จะเข้ามาผลิตรถยนต์ EV ในไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งในระยะแรกจะเป็นการนำเข้าโดยใช้ประโยชน์จากมาตรการทางภาษี แต่หลังจากนั้นจะต้องเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ซึ่งถือเป็นข้อผูกมัดในมาตรการที่ไทยจะส่งเสริม

โดยในวันนี้ (23 ธ.ค.63)  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงิน เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นกลไกสำคัญเพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบสถานการณ์โควิด 19 ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่างๆ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้านการเงิน ที่พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกระดับในพื้นที่ อีอีซีทั้งในเรื่องสินเชื่อรูปแบบพิเศษที่เหมาะสม และเข้าถึงบริการประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงิน เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สกพอ. ได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเป็นช่องทางสนับสนุนแหล่งเงินทุน แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กว่า 1.7 แสนราย ซึ่งล่าสุดได้ให้สินเชื่อไปแล้วกว่า 9,031 ราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 3,039 ล้านบาท