“อาคม” ไม่หวั่น “โอมิครอน” Kick off “สร้างงาน สร้างอาชีพ”

27 ธ.ค. 2564 | 07:22 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2564 | 14:37 น.

“อาคม” Kick off “สร้างงาน สร้างอาชีพ” คาดช่วยคนตกงานไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นคน ยอมรับ “โอมิครอน” อาจทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นฉุดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลด พร้อมย้ำเดินหน้ารักษาระดับการบริโภคในประเทศ หวังดัน GDP ปี 65 โต 4% ตามเป้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 65 ยังมีสัญญาณฟื้นตัว และคาดว่าจะขยายตัวได้ 4% ตามเป้า แม้ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ พบว่า ผู้ประกอบการและประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น มีการออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า ทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น เห็นได้จากปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลที่จอดเต็มหน้าร้านอาหารหลายๆ ร้าน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และพบว่ามีการใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกันจำนวนมาก

 

โอมิครอนยังไม่ชัดเจนในแง่ของความรุนแรง ยังต้องฟังรายงานจาก ศบค. และสาธารณสุข แต่เรายังต้องป้องกัน และไม่สนุกสนานจนเกินขอบเขต ภายใต้คีย์เวิร์ดที่เราต้องร่วมมือกัน ถ้า GDP โต 4% การบริโภคภายในประเทศก็จะอยู่ประมาณ 3% - 4% แม้กำลังซื้อจะยังไม่กลับมาเท่าปี 62 ซึ่งตอนนั้นมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน กำลังซื้อส่วนนี้ยังมาไม่ครบ แต่รัฐบาลได้มีมาตรการออกมาต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับการบริโภค และล่าสุดก็คือ โครงการช้อปดีมีคืน” นายอาคม กล่าว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ กนง. ที่มีการปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีในปี 65 ลงจากที่คาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% เหลือขยายตัวได้ 3.4% หรือขยายตัวลดลงประมาณ 0.5% นั้น เนื่องจากได้มีการนำปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในกรณีเหตุการณ์เลวร้ายเข้ามาอยู่ในสมมุติฐานด้วย แต่ตัวเลขที่ปรับลดลงก็มีการปรับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าเศรษฐกิจในปี 65 ยังฟื้นตัวได้

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 รัฐบาลอาจจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆเข้มข้นขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทย แต่ยังจำเป็นต้องรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะยังคงมีมาตรการเพื่อรักษาโมเมนตั้ม รวมทั้งจะเข้าไปช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปี 63 ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่รายได้ลดลง รวมทั้งต้องออกจากงาน ผ่านกลไกของธนาคารออมสิน ในโครงการ สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งล่ดสุดมีผู้เข้าร่วมมาตรการแล้วประมาณ 66,000 ราย และบางส่วนได้รับการสนับสนุนสินเชื่อไปแล้ว

วันนี้ (27 ธันวาคม 2564) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดโครงการ "ออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ" ซึ่งเป็นมาตรการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน ช่วยฟื้นฟูและช่วยเหลือประชาชนผู้ตกงานหรือขาดรายได้ เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “4 ให้” ได้แก่ ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ และ ให้พื้นที่ค้าขาย

 

โครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ

 

โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการ สร้างงานสร้างอาชีพ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในเฟสแรกจะสามารถช่วยคนตกงานได้ 70,000 ราย โดยล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนเข้าสร่วมโครงการแล้ว 66,000 ราย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เข้ามาขอสินเชื่อและเข้ามาเพื่ออบรมทักษะอาชีพเท่านั้น โดยการให้สินเชื่อไม่ได้เป็นแกนหลักของโครงการ แต่มีเรื่องของให้ทักษะ ให้อุปกรณ์ประกอบอาชีพ และ การให้พื้นที่ค้าขายด้วย

 

ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่เข้ามาขอสินเชื่อได้ทยอยอนุมัติสินเชื่อไปแล้วหลายพันราย โดยหากวงเงินในโครงการ 5,000 ล้านบาทนี้หมดไป ออมสินก็จะออกโครงการอื่นต่อ หรือถ้าโครงการนี้ประสำความสำเร็จอย่างมาก อาจจะเพิ่มวงเงิน และขอให้รัฐบาลสนับสนุนต่อได้เช่นกัน  อย่างไรก็ตามในส่วนของวงเงินในเฟสแรกนี้ รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินสำหรับชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 30% หรือ  1,500 ล้านบาท ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 5,000 ล้านบาท

 

“ออมสิน เป็นธนาคารเพื่อสังคม ทำธุรกิจปกติ ลดต้นทุน กำไรก็สูงขึ้น แต่เอากำไรที่ได้มาอุดหนุนภารกิจเชิงสังคม หรือก็คือการลดภาระดอกเบี้ย ซึ่งในโครงการนี้คิดดอกเบี้ยเพียง 3.99%  รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกทักษะอาชีพ การจัดหาอุปกรณ์ก็เป็นต้นทุนของธนาคาร ส่วนรัฐบาลก็ช่วยอุดหนุนเรื่องเอ็นพีแอล” นายวิทัย กล่าว

 

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

 

นายวิทัยกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการฝึกอมรมนั้น ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 18 แห่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)  มหาวิทยาลัยในโครงการยุวพัฒน์รักถิ่น 64 แห่ง กว่า 900 ชุมชน และเครือข่าย เชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ ตลอดจนเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มากมาย ในการช่วยกันฝึกอบรมและสร้างทักษะอาชีพแก่ประชาชนรวมกว่า 100 หลักสูตรการฝึกอาชีพ  

 

ส่วนความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการหาพื้นที่ให้ประกอบอาชีพ ในปัจจุบัน กทม.มีทั้งสิ้น 3,000 จุด จึงได้มีการให้ทุกเขตพื้นที่ 50 เขต ไปทำการสำรวจ และมีการส่งรายงานกลับมาแล้ว 20 เขต ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ 1,500 จุด

 

โครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ