นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันผ่านมาตรการต่าง ๆ รวม 20 มาตรการ ภายใต้ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” และ “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ” โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารรวมสูงสุดถึง 972,978 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 846,911 ล้านบาท
ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาตรการส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ ยังคงเหลือลูกค้าที่ยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ รวมจำนวน 109,094 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 113,281 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการที่ 2 [M2], มาตรการที่ 9[M9], มาตรการที่ 10[M10], มาตรการที่ 11[M11], มาตรการที่ 12[M12],มาตรการที่ 13[M13], มาตรการที่ 14[M14], มาตรการที่ 15[M15] และ มาตรการที่ 16 [M16] ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ธอส. จึงได้จัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน” เพื่อขยายความช่วยเหลือให้กับลูกค้าเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือของ ธอส. จำนวน 9 มาตรการ(M2, M9, M10, M11, M12, M13, M14, M15 และ M16) ที่ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ตามสัญญา ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยจะได้รับความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้
มาตรการที่ 18 [M18] : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ รองรับลูกค้าเดิมใน M2, M9, M 11, M13 และ M15 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25-0.50% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565
มาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต รองรับลูกค้าเดิมใน M12 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565
มาตรการที่ 17 [M17] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และไม่ได้อยู่ในมาตรการ หรือรองรับลูกค้าเดิมใน M10, M14 และ M16 จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0% ต่อปี ในเดือนที่ 1-3 เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือสูงสุดนาน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้น โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างผ่อนผันการชำระหนี้ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในปี 64 ที่ครบกำหนดผ่อนปรนการชำระหนี้ในเดือนธ.ค.64 และยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ตามเงื่อนไขสัญญากู้เดิมได้ โดยธนาคารขยายระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการต่อไปได้อีก 3 เดือน หรือจนถึงเดือน มี.ค.65
ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ดังกล่าว ลูกหนี้จะต้องลงทะเบียนเพื่อแจ้งความประสงค์ ขอเข้าร่วมมาตรการผ่านช่องทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th หรือติดต่อที่สาขาธนาคารออมสินทั่วประเทศ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกหนี้ ธนาคารฯ จะส่งเอสเอ็มเอส พร้อมลิงค์ลงทะเบียน หรือส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชัน MyMo ให้ลูกหนี้กลุ่มเป้าหมาย ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธ.ค.64
“ที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ตามความสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือและลดภาระการผ่อนชำระหนี้รายเดือน รวมถึงบรรเทาปัญหาสภาพคล่องแก่ลูกหนี้สินเชื่อทุกประเภทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาต่อเนื่องตลอดปี 64 แต่เนื่องปัจจุบันการแพร่ระบาดโควิด ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และความสามารถการผ่อนชำระหนี้ จึงได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือเป็นรายบุคคลให้เพิ่มเติม”
รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งว่า ปัจจุบัน มีลูกค้าเข้ามาตรการพักหนี้บรรเทาความเดือดร้อนช่วงโควิด แบบภาคสมัครใจ 1.5 ล้านราย จำนวน 2.4 ล้านสัญญา โดยจะทยอยสิ้นสุดการพักชำระหนี้ ในเดือนมี.ค.65 เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของมาตรการ ธ.ก.ส.จะมีการจูงใจให้ลูกค้าที่พักหนี้ กลับมาชำระหนี้ตามปกติ ผ่านโครงการชำระดีมีคืน โดยจะคืนดอกเบี้ยให้วงเงิน 1,200 ล้านบาท
นอกจากนี้จะมีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ โดยดูตามศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย ให้สามารถกลับมาผ่อนต่อได้ตามปกติ ผ่านโครงการ ยืด ลด หด ขยาย เช่น การยืดระยะเวลาผ่อนชำระ เพื่อให้งวดผ่อนชำระลดลง รวมถึงการพิจารณาดอกเบี้ย และขยายเวลาการผ่อนให้นานขึ้น