เศรษฐกิจไทย ปี 65 แขวนบนเส้นด้าย ปัจจัยลบรุมเร้า

30 ธ.ค. 2564 | 08:04 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2564 | 15:05 น.

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง ปัจจัยลบรุมเร้าจับตาการระบาดของ “โอมิครอน” หวั่นรุนแรงจนต้องล็อกดาวน์ กระทบกำลังซื้อ เงินเฟ้อพุ่ง กดดันให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็ว จับตาโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ขยายวง ลุ้นจีดีพีตํ่า 3%

ภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น หลังการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ต้องกลับมาทบทวนกันอีกรอบหลังพบการกลายพันธ์ของโควิด-19 สายพันธ์ใหม่ โอมิครอน “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความเห็นสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่พบว่า 5 ปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยในปี 2565 คือ

เศรษฐกิจไทย ปี 65 แขวนบนเส้นด้าย  ปัจจัยลบรุมเร้า

  1. โควิด-19 กลายพันธุ์ยืดเยื้อ จับตาสายพันธุ์ โอมิครอน หวั่นมาตรการรัฐควบคุมโควิดจะซ้ำเติมเศรษฐกิจในระบบ
  2. ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐบีบคั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 1 ปีหน้า
  3. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
  4. เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณแผ่ว
  5. การดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างของประเทศหลัก

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ (BBL) เปิดผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีโอมิครอนเป็นตัวแปรสำคัญ ถ้ารุนแรงจนต้องบริหารจัดการระบาดรอบใหม่ในช่วงต้นปีหน้า จะทำให้เสียโมเมนตัมตั้งแต่ต้นปี หากดูแลได้ก็จะกลับมาฟื้นเศรษฐกิจได้อีกประมาณไตรมาสสองปี 2566 แม้แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นแต่ผันผวนทั้งค่าเงินต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้น, นักธุรกิจต้องปรับ

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ (BBL)

 

ทั้งนี้ 3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กำลังทำงาน คือ การส่งออก การบริโภคและการใช้จ่ายรัฐบาล ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาในปี 65 ซึ่งหากบริหารจัดการโอมิครอนได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีฐาน ที่สำคัญภาคท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 15% ของจีดีพีจะเป็นแรงส่งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจเมืองไทยจะเติบโตดี หากดึงไทยเที่ยวไทยที่มีสัดส่วน 5% มาเป็นตัวช่วยก่อน

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทย  กล่าวว่า อุปสงค์ในประเทศยังเดินได้ เห็นได้จากการใช้จ่ายครัวเรือน มีเมนตัมดีและ Sentiment ยังเป็นบวก แม้จะมีความเสี่ยงโอมิครอนเข้ามา ยกเว้นรัฐจะเข้มงวดมาตรการควบคุมการระบาด โดยมองว่าโอมิครอนจะมีผลบ้างถึงไตรมาส 1 แต่คงไม่ลากยาวถึงไตรมาส 2 และ 3 ปี 2565

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

 

นายพิพัฒน์ เหลือนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัดกล่าวว่า โอมิครอน มี Down Side ต่อจีดีพีของไทย โดยหวังว่า ไม่มีล็อกดาวน์รุนแรง ซึ่งภาพที่ยังไม่เห็นว่าโอมิครอนจะรุนแรงหรือยาวนานขนาดไหน ส่วนตัวยังมอง 3 ปัจจัยเสี่ยง 1.อย่ามีล็อกดาวน์รุนแรง นักท่องเที่ยวต้องกลับมาครึ่งปีหลัง หากโควิดรุนแรงนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 3% แน่

นายพิพัฒน์ เหลือนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research

 

2.เศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจของโลกด้วย โดยมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ชัด ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญ และ 3.นโยบายการเงินประเทศหลักที่แตกต่างกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ถ้าอัตราเงินเฟ้อไม่ปรับลด ทำให้เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกจะกระทบระดับอัตราของดอกเบี้ยในโลก รวมทั้งสภาพคล่อง ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและในไทยแม้ธปท.จะไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics)กล่าวว่า ยังมองจีดีพีมีโอกาสเฉียด 3.9% เพราะจุดต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว เห็นได้จากไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมาแม้จะมีล็อคดาวน์ไม่ได้ส่งผลกระทบมาก แต่ปีหน้าต้องจับตา ทั้งโอมิครอน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านลบและเรื่องเงินเฟ้อผู้ประกอบการจะส่งผ่านระดับราคาอย่างไร โดยอาจส่งผ่านต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม 11%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี

 

ถ้าโอมิครอนกระทบเศรษฐกิจโลกมากจะลดแรงกดดันเงินเฟ้อโลก ขณะที่เงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง หากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า อาจเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปและมีโอกาสเห็นเงินบาทแตะ 35บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย

 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ไตรมาสแรกปี 65 มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อพุ่งไปที่ 2.8-3% สาเหตุจากฐานที่ต่ำและเงินเฟ้อที่ผงกหัวขึ้นมาจากฝั่งซัพพลายไม่ใช่ดีมานด์ จึงไม่สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัวหรือมีความร้อนแรง

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด

 

เพราะฉะนั้นเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันการทำนโยบายการเงิน แต่แรงกดดันอาจจะมาจากประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดการเงินโลกปรับขึ้นและดึงยีล์ดเคิร์ฟให้ปรับเพิ่มด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของไทยได้

 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า 3ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจปีหน้าคือ การระบาดรอบใหม่, สงครามการค้า, เงินเฟ้อ” แต่สิ่งที่กลัวตอนนี้ “โอมิครอน” ระบาดและล่าสุดจำกัดการท่องเที่ยว ซึ่งมุมมองจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองไว้ 5.1 ล้านคนอาจจะถูกกระทบ แต่ยังไม่ตกใจ เพราะนักท่องเที่ยวคาดว่า จะเข้ามาครึ่งหลังอยู่แล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือ การบริโภคในประเทศ เพราะกระทบกำลังซื้อประชาชน รวมถึงการเคลื่อนย้ายซัพพลายเชนอีกรอบ

  นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

“จีดีพีมีโอกาสต่ำ 3% ด้วยปัจจัยการระบาดหนัก และมีมาตรการภาครัฐจำกัดการเคลื่อนย้ายคนและไปสู่ซัพพลายดิสรับปชั่น ซึ่งอาจจะกระทบทำให้จีดีพีต่ำ 3% ได้” นายอมรเทพ กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,744 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 - 1 มกราคม พ.ศ. 2565