ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปี 2564 เป็นปี “แห่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” เศรษฐกิจและสังคมไทยกําลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภค และความเสี่ยงใหม่ที่รุนแรงขึ้นรวมถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง และยังคงขยายต่อเนื่องไปในปี 2565
ขณะที่ธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบในหลายมิติเช่นกัน เห็นได้จากการขยายตัวเพียงเล็กน้อยของเบี้ยประกันภัย ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย รวมทั้งกรณีการถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งการทดสอบภาวะวิกฤตล่าสุด ยังคงไม่พบความเสี่ยงในเชิงระบบประกันภัยในภาพรวม
แสดงให้เห็นว่าระบบประกันภัยไทยยังมีความแข็งแรงในเชิงระบบ และสามารถตอบสนองกับความเสี่ยงและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ตลอดจนประชาชนหันมาให้ระบบประกันภัยเพื่อการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น
สำหรับปี 2565 ประกันภัยไทยยังจะต้องเผชิญความท้าท้ายและปัจจัยความเสี่ยงจากภายนอกที่มีนัยยะต่อธุรกิจประกันภัยที่ต้องเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับตัวให้เท่าทันอีก 5 ปัจจัยหลัก คือ
- ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและคงที่ รวมถึงการหดตัวของเศรษฐกิจไทยและหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อผลประกอบการและกำลังซื้อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ปัจจัยด้านสังคม ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของไทยก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ตื่นตัว รักษาสุขภาพ รวมถึงการใช้ internet และ social media ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในระยะถัดไป ความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม silver age และผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพจะเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งผู้บริโภคจะหันไปใช้ช่องทาง online ในการทำธุรกรรมและเลือกซื้อประกันภัย ส่งผลให้ต้องมีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์จาก traditional products ไปสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ และนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น
- ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยมากที่สุดอีกปัจจัยหนึ่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต บริษัททุกแห่งต้องมีการปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ การประยุกต์ใช้ smart devices หรือ IoT ผนวกเข้ากับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และในระยะถัดไป บริษัทประกันภัยก็จะเริ่มใช้ AI และ Data analytics เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง รับประกัน และพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเสี่ยงใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงโรคระบาด เช่น COVID-19 ภาวะโลกร้อน ฯลฯ โดยกระแส ESG ถือได้ว่ามาแรงมากและได้รับการผลักดันในระดับภาคการประกันภัย ภาคการเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเพื่อช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกอบกู้ภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจประกันภัย
- ปัจจัยด้านกฎหมาย ธุรกิจประกันภัยไทยอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง IFRS 17 ที่จะบังคับใช้ ในปี 2567 ส่งผลต่อวิธีการวัดมูลค่าหนี้สิน และการรับรู้รายได้ทางบัญชี รวมถึงภาษีในธุรกิจประกันภัย ตลอดจน พ.ร.บ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะใช้จริงในปี 2565 ซึ่งธุรกิจประกันภัยมีความเกี่ยวโยงกับข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการพิจารณารับประกันภัย การวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกค้าและการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ในอนาคตจะเป็นรูปแบบ tailor made และ Data Governance มากขึ้น
รวมทั้งต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายให้เหมาะสมและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในด้านของความเสี่ยงอุบัติเหตุใหม่ การก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ภัยธรรมชาติ และระบบประกันสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ทิศทางการดำเนินงานในระยะข้างหน้าจะต้องถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่ผ่านมา พร้อมกับการวางแผนและเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เป็น “มาตรการเร่งด่วน” เพื่อ “หยุดการลุกลาม” ฟื้นฟูและช่วยเหลือบริษัทเป้าหมายที่อาจประสบปัญหา ควบคู่กับการเร่งกอบกู้ศรัทธาและความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาสู่ธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งต้องเสริมสร้างความทนทานยืดหยุ่นและเสถียรภาพของระบบประกันภัยโดยรวมด้วย