ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลเพื่อสร้างพลังของประชาชน พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีกรมสรรพากร ออกมาชี้แจงประเด็น “ภาษีคริปโต” ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ว่า ตามกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันสำหรับนักลงทุน มีการจัดเก็บภาษีในระดับ "ธุรกรรม" กล่าวคือเมื่อทำรายการแล้วได้กำไรต้องเสียภาษีทันที
แต่เมื่อทำรายการแล้วขาดทุนกลับไม่มีการนำมาหักลบจากจำนวนภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุน ไม่ทันต่อยุคสมัย ซึ่งต่างประเทศที่สนับสนุนให้มีการลงทุนเกิดขึ้นภายในประเทศจะไม่ใช้วิธีคิดแบบนี้
“วิธีคิดภาษีเฉพาะกำไรจากการลงทุนแบบรายธุรกรรม โดยไม่หักลบธุรกรรมที่ขาดทุน และยังต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 15% เป็นวิธีคิดที่ไม่เป็นธรรม สร้างภาระ เพราะแค่นักลงทุนซื้อขายเกินสองธุรกรรมต่อวัน ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิบัติตามได้ถูกต้องสมบูรณ์ตลอดปีภาษี
เป็นการลดแรงจูงใจประชาชนที่ลงทุนภายในประเทศ สวนทิศทางกับกระแสนักลงทุนชาวไทยและภาคเอกชนไทย ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเติบโต ซึ่งหากในปี 2565 ที่ประกาศไว้ว่ามีแผนจะเริ่มจัดเก็บภาษีในตลาดหุ้น ตามหลักอาจใช้มาตรฐานแบบเดียวกันนี้ นักลงทุนในตลาดหุ้นคงย้ายไปนอกประเทศตามไปด้วยเช่นกัน”
ดร.ธรรม์ธีร์ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงหลักการความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติได้ง่าย แต่กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ไม่ตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อ วันนี้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นโอกาสของคนตัวเล็กและธุรกิจเกิดใหม่ ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระดับโลก ในโลกยุคนี้ ทุกครั้งที่ภาครัฐจะออกกฎระเบียบเชิงบังคับควบคุม จำเป็นต้องคิดถึงแนวทางเชิงสนับสนุนควบคู่ไปด้วยเสมอ และคำนึงถึงผลบวกให้มากกว่าผลลบเสมอ เพื่อให้ประชาชนและประเทศไม่เสียโอกาส
“หากยังประเมินผลกระทบได้ไม่ครบด้าน ต้องอนุญาตให้ทำก่อน อย่าเพิ่งรีบออกกฎระเบียบเพิ่ม ไม่เช่นนั้นการพัฒนาไม่เกิด ต้องใช้ Sandbox Mindset เพื่อให้โอกาสแทนการตัดโอกาส จึงอยากขอให้ภาครัฐรีบทบทวนแนวทางปฏิบัติดังกล่าวก่อนจะสายเกินไป จนไม่มีใครสนใจการลงทุนภายในประเทศ"
นอกจากนี้ ดร.ธรรม์ธีร์ ยังตั้งคำถามถึงกรณีที่สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศกํากับดูแล Non-Fungible Token (NFT) ว่ามีมาตรการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างไร เพราะ NFT เป็นหนึ่งในกลไกที่นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างความแข็งแรงของทรัพย์สินทางปัญญา และ Soft Power
"ดังนั้น ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรใช้ Sandbox Mindset เน้นการออกกฎระเบียบที่สนับสนุนคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการ เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาและเติบโตของ NFT ในประเทศไทย ไม่ให้ซ้ำรอยกฎระเบียบที่ผ่านมา ที่เมื่อออกมาแล้ว คนไทยไม่อยากทำธุรกิจในประเทศตัวเอง ยูนิคอร์นตัวแรกที่ก่อตั้งโดยคนไทยไม่ได้ (จดทะเบียน) อยู่ในประเทศไทยแล้ว อย่าให้ยูนิคอร์นตัวถัด ๆ ไป ต้องบินออกไปนอกประเทศอีกเลย"
ทั้งนี้ หากภาครัฐตั้งใจทำเพื่อการพัฒนาประเทศ และต้องการนำรายได้เข้าประเทศจริง การออกกฎระเบียบเพื่อสร้างโอกาสให้กับการลงทุนและธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะจะสร้างรายได้และเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าประเทศที่สามารถจัดเก็บภาษีได้มากยิ่งกว่า และนำไปสู่การพัฒนาอีกระดับจนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลระดับภูมิภาคได้ ซึ่งการสร้าง Sandbox Mindset ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือคำตอบ
โดยนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยเห็นว่า ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ไม่เพียงแต่ควรเว้นการเก็บภาษีเท่านั้น ยังควรให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ เพื่อสนับสนุนอีกด้วย