“ปริญญ์”ชี้เศรษฐกิจยุคใหม่ต้องกล้าฉีกกฎระเบียบราชการเว้นเก็บภาษีคริปโต

28 พ.ย. 2564 | 09:52 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2564 | 15:00 น.

“ปริญญ์”ชี้เศรษฐกิจยุคใหม่ต้องกล้าฉีกกฎระเบียบราชการ ยกเว้นการเก็บภาษีคริปโตใช้บล๊อกเชนเพิ่มขีดความสามารถ SMEs & Startup ลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาประเทศอย่างสมดุล

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเสวนา ในงาน Blockchain Thailand Genesis 2021 “โอกาสของประเทศไทยในสังเวียน Digital Asset” จัดขึ้นโดยนายสัญชัย ปอปลี CSO Cryptomind Group และ นายศุภกฤษณ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ซึ่งมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร่วมเสวนา 

 

นายปริญญ์ กล่าวในช่วงต้นว่า ปัจจุบันโลกของเทคโนโลยียุคใหม่นั้นไร้พรมแดน บล็อกเชน และ นวัตกรรมโลกเสมือนจริง Metaverse ได้เข้ามาในประเทศไทยแต่เรายังไม่ได้ใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งมาจากการที่หน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลยังออกกฎเกณฑ์ที่พะรุงพะรัง ทําตัวเสมือนคุณพ่อแสนรู้ และให้ความสำคัญกับการปราบปรามมากกว่าการพัฒนาวัฏจักรของนวัตกรรมทางการเงิน 

                “ปริญญ์”ชี้เศรษฐกิจยุคใหม่ต้องกล้าฉีกกฎระเบียบราชการเว้นเก็บภาษีคริปโต

“เราต้องปรับมุมมองความคิด เร่งสร้างองค์ความรู้ทางการเงินให้กับคนไทยตั้งแต่เยาว์วัย รวมถึงการเสริมทักษะและสมรรถนะเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้คนไทย อีกทั้งต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการการออกกฎเกณฑ์”

 

นายปริญญ์ กล่าวว่า ระบบรัฐราชการไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีความคล่องตัวในการบริหารประเทศ การเร่งออกพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ทําให้เกิดภาระทางภาษีแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและประชาชนทั่วไปที่ลงทุนในคริปโท ซึ่งเป็นการซํ้าเติมปัญหาที่เขากําลังเผชิญอยู่จากวิกฤติโควิด-19 ในขณะที่เขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรม 

“ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ เพื่อการให้บริการที่ดีขึ้นกับประชาชน รวมถึงการลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการในสถานการณ์วิกฤตินี้ การปล่อยสินเชื่อผ่านระบบบล็อกเชน P2P (Peer-to-Peer lending) เป็นการเปิดโอกาสอีกช่องทางหนึ่งให้ SMEs เข้าถึงสภาพคล่องดังนั้นรัฐควรให้การสนับสนุน”

                            “ปริญญ์”ชี้เศรษฐกิจยุคใหม่ต้องกล้าฉีกกฎระเบียบราชการเว้นเก็บภาษีคริปโต

นายปริญญ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทํากําไรได้ดีโดยที่ไม่ต้องเสียภาษี (ยกเว้นภาษีเงินปันผลแค่ 10%) แต่นักลงทุนรายย่อยในคริปโตกลับต้องเสียภาษีและยังไม่มีความชัดเจนในการประเมินอัตราภาษีที่จะต้องเสีย 

 

รวมถึงการขาดการสนับสนุนศิลปินที่ต้องการจะแสดงและขายผลงานในรูปแบบดิจิทัล (NFTs) โดยการออกกฎเกณฑ์ใหม่ที่ไม่ชัดเจนและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมทางการเงินยุคใหม่ทําให้นักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจยุคใหม่หลายคนได้ย้ายการทำธุรกรรมไปต่างประเทศทําให้ประเทศไทยจะเสียโอกาสในระยะยาว กระทรวงคลังควรยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและปรับกฎเกณฑ์สนับสนุนการเติบโตของวัฏจักรอุตสาหกรรมยุคใหม่ในทุกรูปแบบ 

 

ระบบบล็อกเชนได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ได้นําระบบบล็อกเชนมาใช้ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค อีกทั้งรองนายกฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มีวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาผลักดันนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 

 

โดยทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์จะจัดงานเศรษฐกิจยุคใหม่ New Economic Forum series ในวันที่ 20-21 ธันวาคม เพื่อสร้างองค์ความรู้ ผลักดันและให้โอกาสผู้ประกอบการยุคใหม่ SMEs สตาร์ทอัพ และประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงโอกาสใหม่ๆของการเงินในยุคดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสูการสร้างสังคมยุคใหม่ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น