สรรพากร เตรียมคุยแพลตฟอร์มเทรดคริปโตฯ หักภาษี ณ ที่จ่าย นักลงทุน

07 ม.ค. 2565 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2565 | 21:34 น.

สรรพากร เตรียมคุยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคริปโต ก่อนออกข้อบังคับให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หวังช่วยอำนวยความสะดวกนักลงทุน ชี้ภาษีคริปโต กฎหมายระบุไว้ตั้งแต่ปี 61 ย้ำผู้มีรายได้ มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ  โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า  ในส่วนของการยื่นภาษีเงินได้ที่เกิดจากผลประโยชน์ หรือ กำไร จากการซื้อขายคริปโต กฎหมายได้กำหนดไว้ตั้งแต่ช่วงกลาง ปี 2561 ซึ่งหากผู้เสียภาษีทำการยื่นภาษีเงินได้ผ่านเว็บไซต์ จะมีการระบุชัดเจนในส่วนของภาษีเงินได้ประเภท 4 แต่หากยื่นโดยการกรอกเอกสาร จะต้องไประบุเพิ่มเติมในช่อง อื่นๆ

 

ขณะที่นักขุดเหรียญคริปโต จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ ประเภท 8 ซึ่งจะนับเป็นรายได้เมื่อมีการนำเหรียญที่ได้จากการขุดไปขาย ขณะที่การหักลดหย่อนภาษีของนักขุดเหรียญฯ จะต้องยื่นขอหักจริง โดยสามารถนำใบเสร็จหรือหลักฐานค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายซื้อคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ ค่าไฟ เป็นต้น มาใช้ในการแสดงเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งอัตราภาษีของผู้ขุดเหรียญ จะใช้อัตราภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา

 

ในส่วนของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโต  มีหน้าที่ในการนำค่าธรรมเนียมที่เก็บจากนักลงทุนมาเสียภาษี ซึ่งหากเป็นผู้ให้บริการในไทย ก็มีหน้าที่ยื่นภาษีในไทย แต่หากเป็นผู้บริการต่างประเทศ ก็ต้องดูว่าได้จดทะเบียนที่ไหน เนื่องจากจะมีเรื่องของถิ่นที่อยู่ด้วย ส่วนนักลงทุนไทย หากมีการเทรดบนแพลตฟอร์มต่างประเทศ ก็ต้องพิจารณาว่ารายได้ส่วนนั้นมีการนำกลับเข้ามาในประเทศหรือไม่ ซึ่งในการเสียภาษีของบุคคลธรรมดาของไทย จะพิจารณา 2 เรื่อง คือ ถิ่นที่อยู่ในไทย จะต้องอยู่เกิน 180 วัน  และแหล่งเงินได้ ซึ่งหากเทรดในแพลตฟอร์มต่างประเทศ หากมีกำไรและนำกลับเข้าประเทศในปีภาษีเดียวกัน ก็จะต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 41 (2)

“กฎหมายยังกำหนดให้ผู้จ่ายเงิน มีหน้าที่ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%  และนำส่งให้สรรพากร ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการหักไว้ โดยหากนักลงทุนไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก็จะต้องยื่นภาษีในยอดเต็ม ไม่มีเครดิตสำหรับนำมาคำนวนภาษี ซึ่งกรมสรรพากร เตรียมเชิญผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโต มาหารือในประเด็นนี้ และอาจจะต้องมีกฎหมายออกมาเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้บริการฯ ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุน”

 

โฆษกกรมสรรพากร ยังกล่าวถึงสาเหตุที่ไม่ได้ให้นำเงินที่ขาดทุนจากการซื้อขายคริปโต มาใช้รวมในการยื่นภาษีเงินได้นั้น เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ผู้มีเงินได้ ถือว่ามีหน้าที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นจึงให้นำเฉพาะกำไรจากการซื้อขายคริปโต ซึ่งถือเป็นเงินได้ แต่รายได้ส่วนนี้จะถูกนับก็ต่อเมื่อมีการโอนเงินกลับเข้าบัญชีแล้ว ซึ่งหากเงินยังอยู่บนแพลตฟอร์มที่ทำการซื้อขาย จะยังไม่ถือว่าเป็นรายได้

สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ  โฆษกกรมสรรพากร

 

ด้านนายมงคล ขนาดนิด ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวในหัวข้อ "Cryptocurrency เสียภาษีอย่างไร" ผ่านเพจกองกฎหมาย กรมสรรพากร ว่า ในส่วนกรณีซื้อเหรียญมาเก็งกำไร เมื่อราคาขึ้นแล้วมีการขายออกไป ตามกฎหมายระบุว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี่ ให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ไม่ใช่มาตรา 40 (8) เหมือนกับในอดีต

 

ส่วนกรณีนำคริปโตไปซื้อสินค้า ตอนนำเหรียญไปจ่ายค่าซื้อสินค้า เจ้าของเหรียญมีภาระภาษีหรือไม่นั้น นายมงคล กล่าวว่า สิ่งที่จ่ายออกไปเป็นทรัพย์สิน เมื่อนำไปให้เจ้าของสินค้า เป็นการจำหน่ายจ่ายโอนคริปโต ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่ ต้องคำนวณตามผลว่าได้เกินกว่าที่ลงทุนหรือไม่ เช่น นำเหรียญคริปโตไปซื้อเรือเฟอร์รี่ โดยซื้อเหรียญมา 100 บาท แต่สามารถแลกซื้อเรือได้ 10 ล้านบาท ตอนโอนไปให้ ถือว่าเกิด Capital Gain ก็ต้องเอาส่วนนั้นมาเสียภาษี

 

ขณะที่ วิธีการคำนวณภาษีเงินได้ในส่วนของคริปโต คำนวณเหมือนภาษีอื่น เช่น หากมีกำไรจากการขายคริปโต ทั้งปี 200,000 บาท โดยไม่ได้มีรายได้อื่น โดยหลักการเวลาคำนวณภาษีเอาเงินได้พึงประเมินตั้ง แล้วเอาผลตอบแทนจากการเทรดคริปโต ที่เป็นกำไรจากการขาย หรือ 200,000 บาทตั้ง หักด้วยค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายเป็น 0 และสามารถหักลดหย่อนส่วนตัวได้ถึง 60,000 บาท ก็เหลือ 140,000 บาท และหากเหลือเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นจากจ่ายภาษี ซึ่งก็เท่ากับว่าฐานที่จะไปคิดภาษีไม่มีแล้ว ก็เท่ากับว่าไม่ได้เสียภาษี