กรุงไทยชี้ ต้องใช้เงินลงทุน 7 แสนล้านในธุรกิจเกษตร รับเทรนด์ Net Zero

13 ม.ค. 2565 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2565 | 17:51 น.

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยชี้ ถึงเวลาธุรกิจเกษตรและอาหารของไทย ต้องใส่ใจเทรนด์ Net Zero อย่างจริงจัง จากแรงกดดันจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญๆ คาดต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2020-2050

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า โควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้ทั่วโลกต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน (sustainability) โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจแบบยั่งยืน คือ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของก๊าซเรือนกระจกต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

 

สำหรับประเทศไทย หากต้องการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม ภาคเกษตรและอาหารเป็นสาขาแรกๆ ที่ต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงาน 
 

อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้ประกอบการเกษตรและอาหารของไทยกลับยังไม่พร้อมรับมือเทรนด์นี้ สะท้อนจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีจำนวนค่อนข้างน้อย อีกทั้งผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ถึง 94% ซึ่งอาจทำให้มีข้อจำกัดในการปรับตัว

 

​นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ในระยะข้างหน้ามาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯจะเพิ่มความเข้มข้น ทั้งมาตรการที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเกษตรและอาหารโดยตรง เช่น นโยบายฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) การบังคับใช้ฉลากรักษ์โลกในอุตสาหกรรมอาหาร (Eco-labeling) และมาตรการที่มีโอกาสจะขยายวงมาสู่ธุรกิจเกษตรและอาหาร เช่น มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM)และกฎหมายเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Tax)
นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคทางการค้าต่อผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ และอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับภาพรวมสินค้าเกษตรด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังทั้งสองตลาดรวมกันสูงถึง 7 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์กล่าวเสริมว่า ไทยยังจำเป็นต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจเกษตรและอาหารอีกอย่างน้อย 7 แสนล้านบาทในช่วงปี 2020-2050 หรือเฉลี่ยปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ การเพิ่มการลงทุนในธุรกิจอาหารที่ทำจากพืช (Plant-based food) การลงทุนในระบบการจัดการปศุสัตว์ รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบจากความเสียหายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาทต่อปี 

 

อีกทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักใน Ecosystem ของภาคเกษตรและอาหารไทยจะต้องตื่นรับกระแส Net Zero Emission ที่จะไม่ใช่เป็นเพียง “ทางเลือก” แต่จะเป็นเหมือน “ทางรอด” ในยุคที่ BCG Economy กำลังมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจและสังคมโลกมากขึ้นทุกขณะ