นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอรายละเอียดหลักเกณฑ์การเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ไปยังฝ่ายคณะทำงานคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการลงทะเบียนรอบนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น
ทั้งการใช้บัตรประชาชนแทนบัตรสวัสดิการฯ การนำระบบ AI มาใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนและการเชื่อมโยงข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทั้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานประกันสังคม กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
“ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเรื่องลงทะเบียน เพราะจะมีทั้งเปิดจุดรับลงทะเบียนในท้องถิ่น การใช้ระบบออนไลน์ หรือ การให้ลงทะเบียนผ่านระบบโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่ออำนวยความสะดวก และป้องกันการระบาดของโควิด-19 โดยคลังได้เสนอขอความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากไม่ต้องปรับรายละเอียดอะไรเพิ่ม ก็จะเริ่มดำเนินการได้ทันที”นายสันติกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า จากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คนรายได้ลดลง จึงอาจมีผู้เข้าเงื่อนไขการได้สิทธิมากขึ้น อยู่ที่ 14-15 ล้านคน แต่เกณฑ์ในการคัดกรองจะเข้มข้นขึ้น โดยเพิ่มจำนวนคนในครอบครัว รายได้สามีภรรยา จำนวนบุตร รวมถึง ราคาบ้านที่ดิน ราคารถยนต์ มูลค่าสลากออมทรัพย์ มาใช้ในการกำหนดเงื่อนไขด้วย เช่น มีรถยนต์ ราคาต้องไม่เกินเท่าไหร่หรือบ้านพร้อมที่ดินมูลค่าต้องไม่เกินเท่าไหร่
ส่วนวงเงินที่ผู้ได้รับสิทธิจะได้รับ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากต้องรอทราบจำนวนผู้ลงทะเบียนที่แน่ชัดก่อน แต่ยังคงใช้งบประมาณจากกองทุนประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจและฐานราก ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ในกองทุน ในแต่ละปีงบฯแล้ว ซึ่งไม่เท่ากัน ขึ้นกับการทำงบรายจ่ายประจำปีนั้นๆ
หากงบที่ตั้งไว้ไม่พอ ก็สามารถขอใช้งบประมาณกลางเพิ่มเติมได้ เพราะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ถือเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล โดยในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการ 13.6 ล้านคน รัฐบาลได้เบิกจ่ายงบประมาณเข้าไปในบัตรฯรวมกว่า 48,000 ล้านบาท
“รอบนี้จะมีคนลงทะเบียนเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากเดิม ไม่ใช่ปัญหา รอบนี้คลังจะเปิดทบทวนสิทธิทุกปี ซึ่งหากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ปีหน้ามีรายได้มากขึ้น ก็อาจไม่ต้องรับสิทธิบัตรสวัสดิการแล้ว เราจะตัดสิทธิคนนั้นออกไป ผู้ได้รับสิทธิก็จะลดลงตามไปด้วย”นายสันติกล่าว
สำหรับสิทธิเดิมที่ผู้ถือบัตรฯ ได้รับ คือ ผู้ที่รายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี จะได้รับวงเงินซื้อสินค้าผ่านร้านธงฟ้า 300 บาท ผู้ที่รายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินซื้อสินค้า 200 บาท และทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับค่าใช่จ่ายเพิ่มเติมต่อเดือน ได้แก่ ค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท ค่าเดินทางโดยรถเมล์ รถไฟฟ้า 500 บาท ค่ารถไฟ 500 บาท และค่ารถ บขส. 500 บาท
ทั้งนี้ยังไม่รวมเงินค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาตรการเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิดฯ 2 ฉบับ ที่มีวงเงินรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,748 วันที่ 13 - 15 มกราคม พ.ศ. 2565