เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 14 มกราคม นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)เดินทางมาชี้แจงต่อศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดี บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ 1 และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นฟ้องเลขาธิการ คปภ. และสำนักงานคปภ. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้อง คดีข้อหา ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการคำสั่งนายทะเบียน ที่ 38/2564 ห้ามบริษัทประกันวินาศภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย “เจอ จ่าย จบ”ทำให้บริษัทประกันภัยได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
นายสุทธิพลกล่าวว่า คปภ.ได้ยืนยันต่อศาลปกครองกลางว่า เป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษต่อบริษัทประกันภัย แม้จะมีข้อความให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิก ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ไม่ได้หมายความว่าบริษัทสามารถบอกเลิกได้ โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงเปลี่ยนไป หรือจะขาดทุน แล้วบอกเลิกแบบเหมาเข่ง กับผู้เอาประกันนับ 10 ล้านคน
ทั้งนี้คปภ. เห็นว่า บริษัทประกันวินาศภัยควรเลือกวิธีการอื่น ที่ไม่เป็นริดรอนสิทธิ ผู้เอาประกันผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก เพราะเห็นว่าผู้เอาประกันภัย ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดกสัญญา จึงเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่เป็นธรรม จึงไม่เป็นธรรม เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ
นอกจากนี้ ยังขัดต่อหลักการของการประกันภัย โดยที่มีข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานสนับสนุนชัดเจน ท่ามกลางปัญหา การแพร่ระบาดของโอไมครอนต่อภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ทางสำนักงาน คปภ. ยังพร้อมหารือร่วมกันออกมาตรการอื่นเยียวยาเพิ่มเติม โดยไม่ให้เป็นการรอนสิทธิของผู้บริโภค และยังเตรียมเปิดเวทีหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงกาคลัง ประชาชนผู้เอาประกัน เพื่อรับฟังเสียงสะท้อน แลหาทางออกร่วมกัน โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
“สำนักงาน คปภ. ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อไม่ให้บริษัทประกันอ้างเป็นบรรทัดฐานใหม่ อ้างว่ามีความเสี่ยงเพิ่ม ปัจจัยเปลี่ยนไป แล้วมาขอยกเลิกกรมธรรม์ และลุมลามไปยังกรมธรรม์ประเภทอื่น แล้วประชาชนจะทำประกันไปเพื่ออะไร คปภ.จึงพร้อมอุทธรณ์ และขอต่อสู้เพื่อประชาชนทุกชั้นศาล”เลขาธิการ คปภ.กล่าว
นายสิทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2563-2564 กลุ่มธุรกิจประกันภัย ทั้งในฝั่งของธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด -19 หลากหลายรูปแบบ สู่ตลาดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน และดูเหมือนว่าผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 ที่โดนใจประชาชนมากที่สุด คือ ประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” ทำให้ ณ สิ้นปี 2563 มี ผู้ทำประกันภัยโควิด-19 จำนวน 24.4 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสม 4.5 พันล้านบาท และได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 4.2 ร้อยล้านบาท ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 มีกำไร
จากนั้น ในปี 2564 บริษัทประกันภัย ยังคงเดินหน้ารับประกันภัยโควิด-19 เพิ่มอย่างต่อเนื่อง และคาดหวังว่าการรับประกันภัยโควิด-19 จะไม่มีปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมา แต่โชคร้ายโรคระบาดระลอกใหม่ มีผู้ทำประกันภัยติดโควิด จำนวนมาก บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าเคลมเป็นจำนวนมาก และมีกลุ่มธุรกิจ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการขายประกันภัย แบบเจอ จ่าย จบ และมีการกล่าวโทษสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยไทยไม่เป็นธรรม ออกกติกาไม่ดี ทำให้บริษัทประกันภัยขาดทุน จึงต้องชี้แจงเพื่อความเป็นธรรมจากหน่วยงานรัฐ และดูแลประชาชนผู้เอาประกัน
นายคริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิเส้นด้าย กล่าวว่า การเดินทางมาชี้แจงต่อศาลปกครอง เพราะเห็นว่า มีบริษัทประกันวินาศภัยบางราย ขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย เจอ จ่าย จบ อาจกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย จำนวนมาก และอาจทำให้บริษัทประกันภัยรายอื่นปฏิบัติตาม และเมื่อได้โพสท์ข้อความ ว่า “มีบริษัทประกันต้องการยกเลิกกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ” ได้มีประชาชนเข้ามาให้ความเห็นนับพันราย บอกว่าไม่ต้องการให้ยกเลิก เพราะเห็นว่า การเคลมประกัน เมื่อติดเชื้อและรักษาโควิดหลายวัน ทำให้ขาดรายได้ การเคลมเป็นอีกทางหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19