นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือแนวทางการควบคุมอัตราเงินเฟ้อรวมถึงการใช้เงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อบรรเทาเยียวยาประชาชนในช่วงรอยต่อ โดยรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานทั้งในส่วนของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มาเพื่ออัพเดทข้อมูลล่าสุดเพื่อมาเปรียบเทียบกัน หลังสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นนั้นว่าจะมีผลต่อกรอบเงินเฟ้อที่ได้ประมาณการไว้ที่ 1% - 3% หรือไม่ ซึ่งจากการพูดคุยก็ชี้ให้เห็นว่ายังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้
โดยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า มีสินค้าในบางหมวดที่ต้องเข้าไปควบคุมราคาให้อยู่ในเป้าหมาย รวมทั้งต้องมีมาตรการเข้าไปดูแลราคา เนื่องจากขณะนี้ราคาสินค้ามีความผันผวน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ซัพพลายตามไม่ทัน เพราะก่อนหน้านี้ภาคการผลิตเกิดภาวะหยุดชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้ากระโดดขึ้นมา แต่เชื่อว่าราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และคงไม่นานถึงขั้นเป็นปี คงเป็นแค่ช่วงฤดูกาล แต่ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนนี้จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดขึ้น มีการพูดคุยกันมากขึ้น
“วันนี้เป็นการคิกออฟมีทติ้ง เนื่องจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเยอะ แตกต่างจากที่เคยประมาณการ ที่ได้พูดคุยกันในช่วงปลายปีมากพอสมควร จึงต้องมาปรับข้อมูลกัน ส่วนการหารือในวงใหญ่ ก็คงจะมีการพูดคุยอีกครั้งในที่ประชุม ครม.”
ขณะที่มาตรการดูแลในช่วงเกิดภาวะช็อคช่วงสั้นๆ นั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการเข้าไปดูแลควบคุมราคา เช่น เนื้อสุกร กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการเข้าไปดูแล ซึ่งจะมีการติดตามว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลหรือไม่ ส่วนกระทรวงการคลัง จะเข้าไปดูเรื่องต้นทุน ผ่านมาตรการภาษี เช่น การลดภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของกระทรวงพลังงาน นอกจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิด 30 บาทต่อลิตรแล้ว ถ้าพบว่าก๊าซธรรมชาติที่วันนี้ยังต้องนำเข้ามีราคาสูง จะสามารถหาเชื้อเพลิงมาใช้ทดแทนได้หรือไม่ หรือการจัดหาไฟฟ้าจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ก่อนหน้านี้