นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ายังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในปี 65 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.5% - 4% ขณะที่กรอบเงินเฟ้อได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1% - 3% แม้ขณะนี้สถานการณ์ราคาสินค้าและพลังงานจะทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และนายกรัฐมตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปดูแลแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของราคาสุกร ที่ปรับเพิ่มสูงอย่างมาก ขณะที่ราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงานได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปดูแลเพื่อทำให้ราคาพลังงานมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ได้ตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ราคาสินค้าและพลังงานจะเริ่มคลี่คลายภายในช่วงครึ่งปีแรก
ขณะที่ในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้เลื่อนมาตรการ "คนละครึ่งเฟส4" มาเร็วขึ้น จากเดิมจะเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 65 โดยจะเปิดลงทะเบียนในวันที่ 14 ก.พ.65 และจะเริ่มใช้จ่ายวันแรกในวันที่ 21 ก.พ.65 ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวถือเป็นการพยุงการบริโภค แม้จะทำให้การบริโภคยังไม่กลับมา 100% ก็ตาม แต่ถือว่าช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี
“ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงคลัง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ที่ 1% - 3% แม้บางช่วงที่อาจทำให้เงินเฟ้อใกล้ระดับ 3% หรืออาจเกินกรอบไปบ้าง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่แน่ชัด ยังขึ้นอยู่กับการดูแลราคาสินค้าและอาหาร แต่ยืนยันว่าเราจะดูแลไม่ให้เงินเฟ้อเกินกรอบ 3%” นายอาคม กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปี 2565 คือ ภาคการส่งออกที่ทำได้ดีในปี 64 และเชื่อว่าจะส่งโมเมนตั้มไปถึงปี 65 ขณะที่ภาคการส่งเที่ยว ล่าสุด ศบค. มีมติให้นำมาตรการ Test & Go สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยกลับมาใช้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 65 เป็นต้นไป ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้ภาคการท่องเที่ยวในปี 65 นี้ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา แม้จะยังไม่ถึง 100% ก็ตาม แต่จากการเริ่มมาตรการ Thailand Pass และ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 เป็นต้นมา ก็ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมาประมาณ 3 – 4 แสนคน และยังทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเปิดกิจการได้ เพื่อรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย และรองรับนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทยเอง ทำให้มีการเรียกให้แรงงานกลับเข้ามาทำงานมากขึ้นด้วย
ขณะที่ในส่วนของแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐนั้น รัฐบาลยังมีเม็ดเงิน 2 ก้อน วงเงินรวม 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณผูกพันที่ต้องใช้ภายในปี 65 โดยก้อนแรก เป็นงบประมาณประจำปี วงเงิน 6 แสนล้านบาท และก้อนที่ 2 เป็นงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 3 แสนล้าน ขณะที่งบประมาณอื่นๆที่จะเข้าสู่ระบบ คือ งบลงทุนของภาคเอกชนที่รัฐบาลให้สัมปทาน ทั้งในการลงทุนในพื้นที่ EEC และท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในปี 2565 ยังมีความท้าทาย ได้แก่ 1. การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมมิครอน แม้จะไม่มีความรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลต้า แต่จากการแพร่ระบาดที่ไวกว่า ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยในปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับ 6,000-7,000 คนต่อวัน ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากสามารถจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดได้ และเดินหน้าฉีดวัคซีนตามแผน ก็จะทำให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้นได้
2.ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ในช่วงปี 63 – 64 ที่ภาคธุรกิจมีการปิดตัวลง แรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งพบว่าแรงงานมีการประกอบชีพใหม่ และอาจไม่กลับเข้าสู่ระบบแรงงาน ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวก็เดินทางกลับประเทศจำนวนมาก ทำให้ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้เปิดรับคำขอการเดินทางเข้ามาทำงานในไทยจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ดังนั้น เชื่อว่าสถานการณ์แรงงานขาดแคลนอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเท่านั้น
3.สถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งเกิดจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเรื่องราคาสินค้านั้น รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯเข้าไปกำกับดูแล ส่วนราคาพลังงานนั้น มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันจะเข้ามาเป็นกลไกช่วยเรื่องของราคาน้ำมัน