เคทีซีทำนิวไฮครั้งใหม่ ดันกำไรพุ่ง 6,251 ล้านบาท

21 ม.ค. 2565 | 13:53 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2565 | 02:48 น.

เคทีซีทำกำไร 6,251 ล้านบาทเติบโต 17.2% ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และการลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลต่อเนื่อง เผยยังบริหารค่าใช้จ่ายรวมให้ลดลง -7.8% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงในอัตรา -7.7% และ -17.4% ตามลำดับ

เคทีซีพอใจผลกำไรงบเฉพาะปี 2564 สร้างสถิติใหม่อีกครั้งที่ 6,251 ล้านบาท เติบโต 17.2% แม้ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 และการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลต่อเนื่อง  ทำให้พอร์ตลูกหนี้รวมโตไม่มากเท่าที่ควร เล็งปี 2565 สบช่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว และการใช้จ่ายของผู้บริโภคส่งสัญญาณดีขึ้น สร้างโอกาสให้ธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเติบโต ตั้งเป้าปี 2565 ผลักดันพอร์ตลูกหนี้รวมโตเกิน 100,000 ล้านบาท และจะทำกำไรได้สูงสุดอีกครั้ง 

 

เคทีซีทำนิวไฮครั้งใหม่ ดันกำไรพุ่ง 6,251 ล้านบาท

นายระเฑียร  ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม         โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจในภาคเอกชนมีแนวโน้มดีขึ้น มีการใช้จ่ายเม็ดเงินในประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียนจากการท่องเที่ยว ส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องจับตาความเสี่ยงของหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจใน   ปี 2565 ที่ยังอยู่ในระดับสูงพอๆ กับความเสี่ยงของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดรวดเร็วในหลายพื้นที่ ซึ่งกระทบการบริโภคในประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง”

 

เคทีซีทำนิวไฮครั้งใหม่ ดันกำไรพุ่ง 6,251 ล้านบาท

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เคทีซีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อต่อเนื่อง ทำให้แผนการขยายธุรกิจบางอย่างต้องชะลอตัวลง พอร์ตลูกหนี้รวมโตไม่มากนัก บริษัทฯ จึงได้ปรับแผนกลยุทธ์หลายอย่างเพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไปได้ ทั้งการบริหารพอร์ตลูกหนี้ให้มีคุณภาพดีต่อเนื่อง รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายให้ลดลง ล้วนเป็นปัจจัยหลักให้ผลกำไรสุทธิของเคทีซีในปี 2564 เพิ่มขึ้น และนับเป็นสถิติใหม่ของเคทีซีที่ทำกำไรสูงสุดอีกครั้ง ทั้งงบการเงินเฉพาะ 6,251 ล้านบาท และงบการเงินรวม 5,879 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 17.2% และ 10.2% ตามลำดับ โดยกำไรในงบการเงินรวมมีมูลค่าต่ำกว่างบการเงินเฉพาะ เนื่องจากราคาซื้อขายในบริษัท กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) ที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าที่คาดการณ์ และเพื่อให้สะท้อนมูลค่าจริงของพอร์ตลูกหนี้ จึงมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นใน KTBL เป็นจำนวน 539 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว”  

 

 

สำหรับผลประกอบการของเคทีซี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 92,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.8% ส่วนปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งปีอยู่ที่ 195,727 ล้านบาท ลดลง -0.7% รายได้รวม 21,442 ล้านบาท ลดลง -2.8%

 

รายได้ดอกเบี้ยลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่ลดลง จากการถูกปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของทั้งสองธุรกิจและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19  แต่ก็สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายรวมให้ลดลง -7.8% อยู่ที่ 14,197 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายทางการเงิน และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงในอัตรา -7.7% และ -17.4% ตามลำดับ และยังมีอัตรารายได้หนี้สูญที่ได้รับคืนเพิ่มขึ้น 4.7% อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมลดลงที่ 3.6% จาก 3.8% ในไตรมาส 3”

 

ในส่วนของฐานสมาชิกรวม ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวน 3,266,786 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,515,110 บัตร  เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิต 60,201 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL) ลูกหนี้บัตรเครดิต 1.2%  ธุรกิจสินเชื่อบุคคล 751,676 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคล 29,235 ล้านบาท  อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL) ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเท่ากับ 2.9%  

 

“เคทีซียังเน้นการบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ โดยสิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 54,403 ล้านบาท ลดลง 5.3% เป็นโครงสร้างแหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาว คิดเป็นสัดส่วน 17% ต่อ 83% ตามลำดับ โดยเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารกรุงไทย 6,230 ล้านบาท สถาบันการเงินอื่น 4,400 ล้านบาท และการออกหุ้นกู้จำนวน 43,773 ล้านบาท โดยมีต้นทุนการเงินที่ 2.5% อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า และมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) จำนวน 24,009 ล้านบาท”

 

สำหรับแผนกลยุทธ์ในปี 2565 เคทีซีเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของสินเชื่อมีหลักประกันที่ได้วางรากฐานมากว่า 2 ปี อีกทั้งการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และผู้บริโภคเริ่มมีการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันพอร์ตลูกหนี้รวมให้โตเกิน 100,000 ล้านบาท

 

และทำกำไรสูงสุดสร้างสถิติใหม่อีกครั้งในปี 2565 โดยจัดสรรงบประมาณด้านการตลาดที่มากขึ้น และขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจสำคัญที่แตกต่างจากเดิมคือ ธุรกิจบัตรเครดิต สร้างโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) จากการขยายฐานบัตรร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่และพัฒนาบัตรเครดิตร่วม (Co-brand) เน้นสิทธิประโยชน์ที่ตรงใจเพื่อผูกความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตรในระยะยาว

 

ตั้งเป้าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรขยายตัว 10% หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท ธุรกิจสินเชื่อเคทีซี พี่เบิ้ม และ KTBL เป็นแกนธุรกิจเป้าหมายที่จะสร้าง New S Curve ผลักดันให้เคทีซีมีรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน โดยตั้งเป้ายอดลูกหนี้สินเชื่อเติบโตที่ 11,500 ล้านบาท ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายธนาคารกรุงไทยและกรุงไทยลีสซิ่งทั่วประเทศ ธุรกิจสินเชื่อบุคคล มุ่งขยายฐานสมาชิกใหม่ที่มีศักยภาพ เน้นผู้มีรายได้ประจำและมีฐานรายได้ที่สูงขึ้น โดยประมาณอัตราการเติบโตที่ 7%” 

 

MAAI BY KTC เป็นแพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดที่เคทีซีพัฒนาขึ้น จากการต่อยอดความแข็งแกร่งของเคทีซีในการทำระบบคะแนนสะสม และความเชี่ยวชาญในการบริหารคะแนน KTC FOREVER ที่ตอบโจทย์หลากหลายความต้องการของลูกค้า โดยจะให้บริการกับพันธมิตรธุรกิจที่ต้องการใช้ลอยัลตี้ โปรแกรม (Loyalty Program) แบบครบวงจร ด้วยระบบบริหารจัดการสมาชิก (Membership Management) ระบบบริหารจัดการคะแนน (Point System Management) และระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิก (e-Coupon Management)

 

นอกจากนี้ เคทีซียังได้ดำเนินการและปฏิบัติตามแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยทุกมาตรการมาโดยตลอด รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่เข้าร่วมการเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เป็นเงินกู้สินเชื่อบุคคลระยะยาว และลดดอกเบี้ย โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีมูลค่าเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้จำนวน 1,998 ล้านบาท (29,169 บัญชี) โดยมูลค่าลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือผ่านเคทีซีมีสัดส่วนประมาณ 2.15% ของพอร์ตลูกหนี้รวม