นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้หารือกับกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับการปรับลดอัตราภาษีน้ำมัน ทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังสามารถบริหารจัดการได้
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการปรับลดภาษีน้ำมันต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดว่าในเนื้อน้ำมันนั้น มีอัตราภาษีจำนวนเท่าใด หากปรับลดภาษีลงแล้วรัฐจะสูญเสียรายได้จำนวนเท่าใด และจะนำเงินจากแหล่งใดมาชดเชยรายได้รัฐที่หายไป รวมการปรับลดภาษีน้ำมันจะส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้ามากน้อยแค่ไหน ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ และมองว่าอาจเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพจากราคาสินค้าแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอัตราภาษีน้ำมันที่มีการจัดเก็บ ซึ่งรวมภาษีสรรพามิต ภาษีท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 7 - 8 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 8 - 9 บาทต่อลิตร โดยแต่ละปีกรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีน้ำมันได้ราว 200,000 ล้านบาท หรือ 18,000-19,000 ล้านบาทต่อเดือน หากต้องปรับลดภาษีน้ำมันก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการปรับลดภาษีน้ำมัน หากลดลง 1 บาทต่อลิตร จะสูญเสียรายได้จำนวนเงินเท่าใด และราคาน้ำมันตลาดโลกต้องอยู่ระดับเท่าใด ที่จำเป็นต้องปรับลดภาษีน้ำมัน ซึ่งในอดีตที่เคยปรับลดภาษีน้ำมัน 5 บาท โดยราคาน้ำมันขณะนั้นอยู่ที่ 130 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันอยู่ที่ 80 - 88 เหรียญฯต่อบาร์เรล และราคามีแนวโน้มปรับลดลงด้วย
นอกจากนี้ต้องพิจารณารายละเอียดของการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯด้วยว่า นำไปใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลจำนวนเท่าใด และใช้พยุงพลังงานอื่นจำนวนเท่าใด และหากปรับลดภาษีน้ำมัน เพื่อไปพยุงราคาพลังงานชนิดอื่น ก็จะไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ได้กู้เงินมาแล้ว 30,000 ล้านบาท เพื่อพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท โดยเงินที่เหลือ สามารถใช้พยุงราคาน้ำมันไปได้อีก 5 - 6 เดือน แต่หากนำไปพยุงราคาพลังงานชนิดอื่นด้วย ก็จะใช้ได้เพียง 1 - 2 เดือนเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบว่าจะใช้เงินกองทุนน้ำมัน หรือจะลดภาษีน้ำมัน