สินทรัพย์ลงทุน สิ่งที่ต้องรู้เพื่ออิสรภาพทางการเงิน

25 ม.ค. 2565 | 00:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2565 | 07:38 น.

อิสรภาพทางการเงินเมื่อเกษียณแล้ว คือ ต้องมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากสินทรัพย์ลงทุน ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่จะนำไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน ด้วยพลังของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทบต้น

  • อิสรภาพทางการเงินเมื่อเกษียณแล้ว คือ ต้องมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย โดยรายได้จะเกิดขึ้นจาก 3 ทาง ได้แก่ รายได้จากการทำงาน รายได้จากการทำธุรกิจส่วนตัว และรายได้จากสินทรัพย์ลงทุน
  • รายได้จากสินทรัพย์ลงทุน ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่จะนำไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน ด้วยพลังของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทบต้น จะช่วยให้เงินลงทุนเติบโตแบบก้าวกระโดด
  • พลังของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทบต้น จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อนำผลตอบแทน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลมาทบต้นลงทุนไปเรื่อย ๆ และพลังจะเพิ่มขึ้นมาก เมื่อระยะเวลาที่ใช้ในการลงทุนนานขึ้น

 

ข้อจำกัดที่สำคัญในการไปสู่อิสรภาพทางการเงิน คือ การที่เราไม่สามารถทำให้เงินของเราโตและสร้างรายได้ให้กับเราได้ในขณะที่เราหลับหรือขณะที่เราไม่ทำงาน (ย้ำอีกครั้งไม่ได้หมายความว่ามีอิสรภาพทางการเงินแล้วหยุดทำงานนะครับ) และการที่เราจะทำให้เงินของเราโตได้นั้นมี 2 ทาง คือ

 

1.เก็บเงินไปเรื่อย ๆ ซึ่งในตอนที่แล้ว ผมสมมติว่า หากเราสามารถมีเงินเก็บเดือนละ 5 พันบาท ตั้งแต่อายุ 22 ปี จนถึงอายุ 60 ปี (ปีที่เราคาดว่าจะเกษียณ) เราจะมีเงินเก็บทั้งสิ้น 2.28 ล้านบาท ซึ่งไม่พอแน่นอนหากเราต้องการเกษียณอย่างมีคุณภาพหลังอายุ 60 ปี เพราะเงิน 2.28 ล้านบาท และใช้จนสิ้นอายุขัยที่ 80 ปี (อายุเฉลี่ยของคนไทย) เราจะมีเงินใช้เพียงเดือนละ 9,500 บาท
 

แต่หากอายุยืนกว่านั้นเงินต่อเดือนที่ใช้ได้ก็จะน้อยลงตามลำดับ และที่สำคัญคือการเก็บเงินให้ได้เดือนละ 5 พันบาท ยากพอควรเมื่อเปรียบเทียบระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายของคนไทยส่วนใหญ่ ดังนั้นเราจึงต้องมีทางที่ 2
 

2. ทำให้เงินของเราโตขึ้นด้วยการนำเงินเก็บไปซื้อสินทรัพย์ลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน ยิ่งผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากเท่าไร เงินเก็บของเราก็จะโตเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ดังเห็นได้จากรูปกราฟด้านล่าง หากเรานำเงินเก็บของเราไปซื้อสินทรัพย์แล้วได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี เงินเก็บของเราจะโตขึ้นเป็น 6.82 ล้านบาท จากเดิมที่มีเพียง 2.28 ล้านบาทตอนอายุ 60 ปี ด้วยเงินเก็บต่อเดือนเท่ากันที่ 5 พันบาท และหากเรามีความรู้และความเข้าใจในสินทรัพย์ลงทุนมากขึ้น สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 10% - 12% ต่อปี เงินเก็บเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 26.02 ล้านบาท และ 46.68 ล้านบาท ตามลำดับ ไม่น่าเชื่อนะครับจากเพียง 2.28 ล้านบาท

 

สินทรัพย์ลงทุน สิ่งที่ต้องรู้เพื่ออิสรภาพทางการเงิน

 

ทำไมปริมาณเงินเก็บตอนเกษียณช่างแตกต่างกันขนาดนี้เมื่อผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ได้ขึ้นเป็นขั้นบันไดธรรมดา แต่เป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดหรือที่เรียกว่าการเพิ่มขึ้นแบบ Exponential และนี่คือพลังของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทบต้นนั่นเอง ดังที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก เคยกล่าวไว้ว่า “ดอกเบี้ยทบต้นคือสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่มีพลังมากที่สุด” หรือแม้กระทั่งวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก กล่าวว่า “ความมั่งคั่งของเขาเกิดขึ้นจากการที่เขาเกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มียีนที่ทำให้อายุยืน และที่สำคัญคือพลังของดอกเบี้ยทบต้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกคนจะทราบว่าพลังของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทบต้นนั้นมีพลังมาก แต่หากไม่รู้ว่าใช้งานอย่างไร ก็เหมือนมีโทรศัพท์รุ่น Flagship แต่ใช้งานเหมือนรุ่นดั้งเดิม ดังนั้น การรู้ว่าคืออะไรกับรู้ว่าใช้อย่างไรต่างกันนะครับ พลังของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทบต้นนั้นจะแสดงพลังได้ก็ต่อเมื่อ...

1.ต้องนำผลตอบแทน (ไม่ว่าจะรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผล) มาทบต้นลงทุนไปเรื่อย ๆ

 

2.พลังจะเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเวลาผ่านไป ตัวอย่างเช่น หากเราเพิ่มเวลาสะสมสินทรัพย์เดือนละ 5 พันบาท ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่ 38 ปี เป็น 40 ปี โดยได้รับผลตอบแทนที่ 12% เงินเก็บของเราจะเพิ่มขึ้นจาก 46.68 ล้านบาท เป็น 59.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 12.73 ล้านบาท จากเงินใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในช่วง 2 ปี เพียง 120,000 บาท เท่านั้น ที่เหลือที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 12 ล้านบาท คือ ผลตอบแทนที่มาจากการทบต้นแทบทั้งสิ้น

 

“พลังของดอกเบี้ยทบต้นจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีวินัย และรอเวลาให้มันแสดงพลัง”

 

ความแตกต่างระหว่างเงินกับสินทรัพย์ลงทุน

 

ผมเขียนมาถึงตรงนี้ หากใครสังเกตจริง ๆ จะพบว่า ผมพูดสลับกันไปมาระหว่างคำว่า “เงิน” กับ “สินทรัพย์ลงทุน” ความแตกต่างกันไม่มีอะไรมากครับ เงิน คือ เงินสดที่ใช้เป็นตัวแทนหรือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน ไม่ว่าเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบของเหรียญ กระดาษ หรือดิจิทัลก็ตาม แต่เราจะเปลี่ยนจากเงินเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ก็เพียงแค่นำเงินนั้นมาซื้อสินทรัพย์ลงทุนเท่านั้นเอง แล้วอะไรละคือสินทรัพย์ลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนให้เรา สินทรัพย์ลงทุนในความหมายของผมคือ สินทรัพย์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดรับได้ตลอดอายุที่เราถือครอง และราคาของสินทรัพย์นั้น ๆ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาวควบคู่ไปด้วย แต่ก่อนที่ผมจะอธิบายว่ามีสินทรัพย์อะไรบ้าง ผมอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมผมถึงเรียกสินทรัพย์เหล่านี้ว่าสินทรัพย์ลงทุน

 

สินทรัพย์ลงทุน สิ่งที่ต้องรู้เพื่ออิสรภาพทางการเงิน

ระบบการเคลื่อนย้ายเงินตามโครงสร้างเศรษฐกิจโดยทั่วไป คือ การย้ายเงินจากภาคประชาชนผู้มีเงินส่วนเกินหรือเงินออมไปสู่ภาคธุรกิจหรือภาครัฐ ที่ต้องการเงินทุนในการขยายธุรกิจหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้นส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีตัวกลางเพื่อดูแลให้ภาคประชาชนได้รับผลตอบแทนอย่างถูกต้องและยุติธรรมตามสิทธิที่พึงได้รับ

 

โดยหากเงินจากภาคประชาชนผ่านไปทางธนาคารพาณิชย์จะไปในรูปของเงินฝากหรือนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชน จากนั้นธนาคารจะนำเงินที่ได้จากภาคประชาชนไปให้หรือปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจหรือภาครัฐ เพื่อลงทุนต่อไป โดยภาคประชาชนจะได้กระแสเงินรับเป็นดอกเบี้ย ในขณะที่อีกทางหนึ่งภาคประชาชนนำเงินมาผ่านตลาดหุ้นและบริษัทหลักทรัพย์ โดยนำเงินมาซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น และบริษัทหลักทรัพย์จะนำเงินเหล่านี้ผ่านต่อไปให้ภาคธุรกิจใช้ในการทำธุรกิจ โดยภาคประชาชนจะได้รับเงินปันผล จากกำไรของกิจการเป็นผลตอบแทนไม่ได้รับเป็นรูปดอกเบี้ยเหมือนนำเงินมาผ่านทางธนาคาร เพราะการซื้อหุ้น ผู้ซื้อจะมีฐานะเป็นเจ้าของ ขณะที่การซื้อหุ้นกู้ ตราสารหนี้ ผู้ซื้อจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน

 

ทั้งนี้ผมเรียกพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน และหุ้น เป็นสินทรัพย์ลงทุน เพราะเงินที่เรานำไปฝาก เงินที่เราไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชน หรือนำเงินไปซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น เงินเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ส่งมอบต่อให้กับภาคธุรกิจหรือภาครัฐ “เพื่อลงทุน

 

ส่วนสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ เงินดิจิทัล นาฬิกา พระเครื่อง รูปภาพ ไวน์ หรือของสะสมอื่น ๆ ผมมองเป็นสินทรัพย์ทางเลือกมากกว่าสินทรัพย์ลงทุน ด้วยเหตุผลหลัก ๆ เหตุผลเดียวคือ สินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้สร้างกระแสเงินรับให้กับเรา จะได้ผลตอบแทนก็ต่อเมื่อสินทรัพย์เหล่านี้ราคาปรับขึ้นเท่านั้น แต่ผมไม่ได้ปฏิเสธที่จะลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้นะครับ เพียงแต่ผมจะลงทุนในสัดส่วนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนหลัก

 

มาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงทราบความสำคัญของการลงทุนและพลังของดอกเบี้ยทบต้น แต่แน่นอนการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องเรียบง่าย หากเราเข้าใจและมีความรู้ในสินทรัพย์ที่เราจะนำเงินเข้าไปลงทุน รวมถึงมีวินัยและอดทนมากพอ ซึ่งในตอนหน้าเราจะมาเริ่มเรียนรู้วิธีการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ กันครับ

 

บทความโดย : กวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย

อ้างอิงที่มา   :  SET"Investnow