อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังผันผวนและแกว่งตัว Sideways ระหว่างโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโอมิครอนและการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Test and Go และได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำบ้าง แต่แรงกดดันด้านอ่อนค่ายังคงมีอยู่
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังผันผวนและแกว่งตัว Sideways ระหว่างโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ เพราะแม้ว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโอมิครอนและการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Test and Go รวมถึงเงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำบ้าง แต่แรงกดดันด้านอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ ทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมที่ยังหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติมได้
ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.10 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินผันผวนรุนแรง โดยในช่วงแรกของการซื้อขายในตลาดฝั่งสหรัฐฯ นั้น สินทรัพย์เสี่ยงเผชิญแรงเทขายอย่างหนักจนดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลงเกือบ -4.0% จากความกังวลเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO ที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้นจนเสี่ยงที่จะเกิดสงครามได้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้กลับเข้ามาซื้อหุ้นที่เผชิญแรงขายหนักหน่วงในช่วงท้ายตลาด (Buy on Dip) โดยเฉพาะหุ้นเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth หนุนให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถรีบาวด์ขึ้นมาและปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้าได้ โดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.63% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.28%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงหนักกว่า -4.1% จากความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามและทำให้ทั่วโลกอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปได้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่รุนแรงเช่นกัน อาทิ Adyen -8.8%, ASML -7.0%, Infineon Tech -6.2% ซึ่งสอดคล้องกับแรงขายหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ ทว่า ผู้เล่นในตลาดยุโรปยังคงไม่รีบกลับเข้ามาซื้อหุ้นเทคฯ/หุ้น Growth ที่โดนเทขายหนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นยุโรปอาจเริ่มเปิดโอกาสให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อ เนื่องจากเรามองว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอาจคลี่คลายลงได้และทั้งสองฝ่ายอาจสามารถหลีกเลี่ยงการทำสงคราม นอกจากนี้ เศรษฐกิจยุโรปยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนเริ่มชะลอลงในหลายประเทศ และที่สำคัญในเชิง Valuation หุ้นยุโรปถือว่ายังไม่แพงมากนัก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลกหรือตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดในช่วงแรก ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นมาเล็กน้อยหลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์เสี่ยง หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและทรงตัวที่ระดับ 1.77% ทั้งนี้ เรามองว่า ในระยะสั้น ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด รวมถึง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้ บอนด์ยีลด์มีแนวโน้มผันผวนต่อในช่วงนี้ แต่มองว่า หากปัจจัยเสี่ยงเริ่มคลี่คลายลง บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.92 จุด ทั้งนี้ แม้ว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะกดดันราคาทองคำ แต่ทว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเลือกที่จะยังคงถือทองคำเพื่อหลบความผันผวนในตลาด ส่งผลให้ราคาทองคำ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผ่านมุมมองของภาคธุรกิจ โดยตลาดประเมินว่ามุมมองของภาคธุรกิจอาจเริ่มมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและสภาวะธุรกิจ หลังสถานการณ์การระบาดในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี อาจเข้าใกล้จุดเลวร้ายสุด มุมมองดังกล่าวอาจสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Ifo Business Climate) ของเยอรมนี ในเดือนมกราคม ที่อาจทรงตัวที่ระดับ 94.7 จุด
นอกจากนี้ ควรติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่ โดยหากสุดท้ายการเจรจาเพื่อลดความร้อนแรงของปัญหาประสบความล้มเหลวและนำไปสู่สงคราม เรามองว่าตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงหนักในระยะสั้น ทว่า สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินดอลลาร์ ทองคำ รวมถึงบอนด์ระยะยาว อาจปรับตัวขึ้นได้ดี เช่นเดียวกันกับ ราคาสินค้าพลังงาน อาทิ น้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ
ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ที่ระดับประมาณ 32.95-33.02 บาทต่อดลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันนี้ ทรงตัวใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในฝั่งที่แข็งค่ากว่าระดบ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทน่าจะยังเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจาก เงินดอลลาร์ฯ น่าจะมีแรงหนุนในระหว่างวันจากการคาดการณ์เกี่ยวกับสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินจากผลการประชุมเฟด 25-26 ม.ค. ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังเป็นสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.85-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และดัชนี PMI ขั้นต้นเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ อียูและอังกฤษ