ทริสสเรทติ้ง สรุปอัตราการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในประเทศไทยในรอบปี 2564 ระบุว่าช่วงปีที่ผ่านมาทริสเรทติ้ง มีการจัดและประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้รวมทั้งสิ้นจำนวน 230 ราย ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ดังกล่าวประกอบด้วยบริษัททั่วไป (Non-financial Institution – Non-FI) จำนวน 175 ราย สถาบันการเงิน (Financial Institution -- FI) จำนวน 50 ราย ผู้ออกตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อน (Structured Finance Issuer) 1 ราย และอีก 4 รายเป็นผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ
22 บจ. ถูกปรับลดเครดิตเรทติ้ง .
โดยปี 2564 ทริสเรทติ้ง มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้จำนวน 13 ราย และปรับลดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ออกตราสารจำนวน 22 ราย (: ตารางประกอบ) ทำให้สัดส่วนของผู้ออกตราสารที่ได้รับการปรับลดอันดับเครดิตต่อผู้ออกตราสารที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอยู่ที่ 1.69 เท่า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงจาก 4.83 เท่าในปี 2563
ในขณะที่ผู้ออกตราสารที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) มีจำนวน 23 ราย โดยจำแนกออกเป็นผู้ที่ได้รับการปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตจำนวน 18 รายและผู้ที่ได้รับการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตจำนวน 5 ราย
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีการประกาศเครดิตพินิจ (Credit Alert) ให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้จำนวน 5 ราย โดยเป็นเครดิตพินิจแนวโน้ม “ลบ” (Negative) จำนวน 4 รายและแนวโน้ม “ยังไม่ชัดเจน” (Developing) จำนวน 1 ราย ในการนี้ เครดิตพินิจส่วนใหญ่ได้รับการพิจารณาเปลี่ยนแปลงในระหว่างปี ยกเว้นผู้ออกตราสารเพียง 1 รายเท่านั้นที่ได้รับการปรับลดอันดับเครดิตและยังคงได้รับการประกาศเครดิตพินิจแนวโน้ม “ลบ” (Negative) อยู่จนถึงสิ้นปี 2564
อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในช่วงระหว่างปี 2537-2564 ปรับลดลงเล็กน้อย โดยมาอยู่ที่ระดับ 0.912% 1.962% และ 2.860% จากระดับ 1.005% 2.172% และ 3.181% ในช่วงระหว่างปี 2537-2563 ตามลำดับ
ตลาดหุ้นกู้ปี 64 ฟื้นเติบโต 54%
ทริสเรทติ้ง กล่าวถึงภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2564 ว่าเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยตราสารหนี้ใหม่ที่ออกและจดทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association – ThaiBMA) ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 54.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.02 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับเครดิตคิดเป็นสัดส่วน 20.3% ของตราสารที่ออกทั้งหมดในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 18.6% ในปี 2563
ทั้งนี้ ผู้ออกตราสารในอุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่มซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงิน เกษตรและอาหาร สื่อสาร รวมถึงค้าปลีกนั้นมีการออกตราสารหนี้รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 64.2% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกในปี 2564
มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวคงค้างในภาคเอกชน ณ สิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นที่จำนวน 3.63 ล้านล้านบาท ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับเครดิตเมื่อเทียบกับตราสารหนี้คงค้างรวมก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับประมาณ 15.6% จากระดับ 15.1% ในปี 2563
สำหรับการศึกษาสถิติการผิดนัดชำระหนี้ ทริสเรทติ้งจะไม่รวมผู้ออกตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อนและผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนผู้ออกตราสารหนี้ซึ่งเป็นบริษัททั่วไปจำนวน 7 รายและสถาบันการเงินอีกจำนวน 4 รายที่ออกตราสารหนี้เฉพาะที่มีการค้ำประกันเต็มจำนวนเท่านั้น ดังนั้น การศึกษานี้จึงใช้ข้อมูลเฉพาะผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นบริษัททั่วไปจำนวนทั้งสิ้น 214 รายซึ่งจำแนกออกเป็นบริษัททั่วไปจำนวน 167 รายและสถาบันการเงินจำนวน 47 ราย
ในปี 2564 ผู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดผิดนัดชำระหนี้เลย จึงทำให้จำนวนผู้ออกตราสารที่ผิดนัดชำระหนี้สะสมตั้งแต่ปี 2537 คงอยู่ที่ 24 ราย (เป็นผู้ออกตราสารที่มีการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างที่ยังมีการจัดอันดับเครดิตอยู่จำนวน 19 รายและอีก 5 รายมีการผิดนัดชำระหนี้ภายหลังจากขอยกเลิกอันดับเครดิตไปแล้ว) ในบรรดาผู้ออกตราสารหนี้จำนวน 214 รายในปี 2564 นั้น มีผู้ออกตราสารใหม่จำนวน 16 ราย และยกเลิกอันดับเครดิตจำนวน 5 ราย ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ออกตราสารที่มีการประกาศอันดับเครดิตต่อสาธารณะในปี 2564 (ไม่นับรวมผู้ออกตราสารที่เข้ามาใหม่ 16 รายและผู้ออกตราสารที่ยกเลิกอันดับเครดิต 5 ราย) ที่มีอันดับเครดิตคงเดิมนั้นอยู่ที่ระดับ 81.87%