แฮกเกอร์ปล้น“คริปโต” ทำ “เอ็กซ์เชนจ์”ตั้งการ์ดสกัด

04 ก.พ. 2565 | 06:41 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2565 | 13:49 น.

ข่าวคราวเวิร์มโฮล(Wormhole) โปรโตคอลที่เชื่อมต่อโซลานา (Solana) และบล็อกเชน DeFi อื่นๆ ได้ถูกแฮกเกอร์โจมตี ขโมยเงินคริปโต ทำเอา “เอ็กซ์เชนจ์” ในไทยตั้งการ์ดสูงสกัด

กระแสการลงทุน "คริปโต" "คริปโทเคอร์เรนซี" (Cryptocurrency) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวโลก ที่ในเวลานี้ที่ขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ และเป็นที่จับตามอง เมื่อนักลงทุนหันมาลงทันกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีความผันผวนและความเสี่ยงสูงในการลงทุนก็ตาม

ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ระบุว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป ประมาณ 2.15 – 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40.67% มาจากบิทคอยน์

และมีมูลค่าการซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ 89. 61 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน มีบัญชีผู้ลงทุนทั้งหมด 1.77 ล้านบัญชี ถือเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่านับจากต้นปี 2563

แน่นอนว่าเมื่อเรียกความสนใจจากนักลงทุนมากเท่าไหร่ ก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าเหล่า "อาชญากรไซเบอร์" จะไม่ตาลุกวาว เมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นแฮกเกอร์ปล้นวงการคริปโทเคอร์เรนซีครั้งใหญ่  

 

เวิร์มโฮล(Wormhole) โปรโตคอลที่เชื่อมต่อโซลานา (Solana) และบล็อกเชน DeFi อื่นๆ ได้ถูกแฮกเกอร์โจมตี และขโมยเงินคริปโทเคอร์เรนซีในระบบรวม 120,000 WETH หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 320 ล้านดอลลาร์

 

รายงานจาก สำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” ระบุว่า การโจรกรรมครั้งนี้อาจเป็นการขโมยคริปโทเคอร์เรนซีจากโปรโตคอลครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ทีอาร์เอ็ม แล็บส์ (TRM Labs) บริษัทตรวจสอบบล็อกเชนระบุว่า มีการส่งเหรียญ WETH ที่ถูกขโมยไป 96,000 เหรียญ เข้าสู่บล็อกเชนอีเธอเรียมแล้ว แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม

 

ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นทำเอา เหรียญ SOLANA ปรับตัวลงราว 10% และแพลตฟอร์ม Defi ราคาปรับตัวลงตามไปด้วย บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดย นายสรัล ศิริพันธ์โนน ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ชี้ว่าไม่กระทบต่อการลงทุนคริปโตในไทย  และไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และโบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลในไทยที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย  เพราะระบบที่ถูกแฮกเกอร์โจมตี เป็นระบบ Defi สร้างบน Smart Contract  เป็นคนละระบบกับทางศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ส่วนบริษัทที่เป็นศูนย์ซื้อขายฯ ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลระดับโลก ISO 27001 และ ISO 27701 กระดานมีเสถียรและปลอดภัย

 

ด้าน “บิทาซซ่า” บริษัท บิทาซซ่า จำกัด มีการ ป้องกัน 2 ชั้น  นายกวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บอกว่า บริษัท มีระบบการรักษาความปลอดภัยสูงมาก ด้วยการยกระดับมาตรการความปลอดภัย 2 ชั้น ด้วยระบบ 2FA (2 Factor Authenticator) เพื่อถอนเงินบาทจะต้องกดยืนยันทางอีเมล์ และยังมีระบบการตรวจสอบการถอนเงินที่พบความผิดปกติจะสอบถามกลับไปยังลูกค้าว่าได้เป็นผู้ทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นหรือไม่