นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ในปี 2565 ทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาขึ้น สะท้อนจากตลาดพันธบัตรทั่วโลก ที่ขณะนี้ได้ปรับขึ้นอัตราผลตอบแล้ว หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อดอกเบี้ยสำหรับประเทศไทยจะมี 2 ส่วนคือ สภาพคล่องในตลาดเงินของประเทศ และนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งมองว่า ไทยจะเริ่มเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 65
อย่างไรก็ตามในส่วนของลูกค้าธนาคารออมสิน โดยเฉพาะรายย่อย 3.5 ล้านราย ที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ใช้สินเชื่อแบบดอกเบี้ยคงที่
“ธนาคารได้คาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระยะหลังโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งมองว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น ดังนั้นมาตรการที่ออกมาซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น 3-5 ปี ได้ออกแบบให้มีอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 3.99% - 4.99% ต่อปี เพื่อดูแลไม่ให้ผู้กู้ได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายวิทัยกล่าว
นายวิทัยกล่าวอีกว่า ธนาคารยังเดินหน้าพัฒนาการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล (Digital Lending) หลังจากปีที่ผ่านมาได้นำร่องปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินไปแล้วกว่า 1.5 ล้านราย และยังเปิดให้ SMEs ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ผ่านแอปฯ MyMo
ธนาคารจะเร่งเชื่อมข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ (Alternative Data) เพื่อปล่อยสินเชื่อปกติให้กับลูกค้ารายย่อยทั่วไป โดยหวังให้ลูกค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยมีประวัติการกู้มาก่อน หรือ เครดิตต่ำ ซึ่งในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ออมสินได้ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มดังกล่าวแล้วกว่า 2.6 ล้านราย จากจำนวนการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งหมด 3.5 ล้านราย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,755 วันที่ 6 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565