เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียวกำลังเป็นแนวโน้มของโลกในปัจจุบันที่ประชาชนมีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและรัฐบาลหลายประเทศส่งเสริมเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวตาม โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่นอกจากส่งผลเรื่องการค้าระหว่างประเทศในอนาคตแล้ว ยังส่งผลต่อเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะเป็นเสมือนเครดิตที่ทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและมากขึ้นด้วย ล่าสุดธนาคารออมสิน เตรียมนำ ESG SCORE มาใช้ เพื่อใช้ในการประเมินคะแนนการให้วงเงินสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสินเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธนาคารเตรียมออกผลิตภัณฑ์ “ESG SCORE” โดยเบื้องต้นจะมีการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการให้คะแนนไม่ต่ำกว่า 10 ข้อ เช่น บริษัทที่เข้ามาขอสินเชื่อหรือลงทุน หากประเมินคะแนน ESG แล้วได้ต่ำกว่า 2 คะแนน ก็อาจไม่ปล่อยสินเชื่อให้ หรือ หากประเมิน ESG แล้ว คะแนนสูงกว่า 7 คะแนนขึ้นไป จะมีการลดดอกเบี้ย หรือเพิ่มวงเงินลงทุนตราสารหนี้หรือ เพิ่มวงเงินสินเชื่อ เป็นต้น ซึ่งคาดว่า จะเริ่มมีการนำมาใช้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับการดำเนินงานให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาล (ESG) ที่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยได้ ลงนามรับ “หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน หรือ UNEP Finance Initiative
ขณะที่นโยบายสินเชื่อได้มีการปรับ ด้วยการใส่ข้อกำหนดและรายละเอียดที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจที่จะไม่ยุ่งเกี่ยว เช่น ธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่มุ่งเน้นส่งเสริม เช่น ธุรกิจที่มี BCG ได้แก่ BIO-Economy, Circular Economy, Green Economy และมี ESG เป็นต้น
ทั้งนี้ได้เข้าไปมุ่งเน้นส่งเสริมใน 2 รูปแบบ คือ 1. การให้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ เช่น เดิมเคยให้ดอกเบี้ยในอัตรา 6% ก็ลดลงเหลือ 4%-5% เป็นต้น และ 2. การเพิ่มปริมาณการให้สินเชื่อ เช่น วงเงินสินเชื่อจากเดิมให้ 100 ล้านบาท ก็เพิ่มให้เป็น 130 ล้านบาท เป็นต้น
“ทั้งหมดที่ทำ ถือเป็นการตอบสนองหลักการ ESG ที่เป็นรูปธรรม เพราะมีทั้งผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ BCG และ ESG และกำลังจะมี ESG SCORE ซึ่งคาดว่า จะได้เห็นชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 ซึ่งแนวทางความยั่งยืน เริ่มเห็นชัดขึ้นว่าทุกคนกำลังวิ่งไปหา และเป็นภาพใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ” นายวิทัย กล่าว
ขณะที่นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า การสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ(S-curve) และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG Economy) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 5 ปีของธนาคารอยู่แล้ว โดยปี 2565 ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพอร์ตสินเชื่อ BCG สินเชื่อสีเขียว หรือพลังงานสะอาดเป็น 40% จากปัจจุบันที่มี 35% ของสินเชื่อรวม
ธนาคารในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีภารกิจสำคัญในการตอบสนองความต้องการของ
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงลูกค้า ผู้ประกอบการและชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียว(BCG Economy) การสร้าง Ecosystem ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และการพัฒนาธนาคารเพื่อความยั่งยืน(Sustainable Banking)
“เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ กิจกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการจัดการความรู้ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารจัดการความรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้”นายรักษ์กล่าว
ทั้งนี้ธนาคารจะส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจสู่ชั้นบรรยากาศโลก บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สอดรับกับเป้าหมายของประเทศไทยที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2608 ตามนโยบายรัฐบาล
ธนาคารยังต้องการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ให้สามารถส่งออกได้ เพราะปัจจุบันเรามีผู้ประกอบการ SMEs รวมกว่า 6 ล้านคนในประเทศ แต่มีแค่ 30,000 คนที่สามารถพัฒนาไปเป็นผู้ส่งออกและในจำนวนนี้เป็นลูกค้าของธนาคารเพียง 4,000 ราย แสดงว่าธนาคารเปิดมา 30 ปีเฉลี่ยต่อปีแค่ 300 รายเท่านั้น แต่จากนี้ไปตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าให้ได้ปีละ 1,000 รายเพิ่มขึ้น 3 เท่าให้เป็นผู้ส่งออกใหม่ให้ได้
EXIN BANK มีสาขาเพียง 9 แห่งในประเทศ แต่เป็นธนาคารรัฐแห่งเดียวที่มีสาขาในต่างประเทศถึง 4 แห่งคือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมา ดังนั้นในทุกเดือนสาขาในต่างประเทศจะหานักธุรกิจในประเทศนั้นมาเจอกับนักธุรกิจไทย เพื่อทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจขึ้น เมื่อสามารถตกลงกันได้ธนาคารจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนสินเชื่อและประกันการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการตัวเล็กๆของไทยสามารถส่งออกได้
ด้านนางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) กล่าวว่า ในส่วนของ บสย. พร้อมที่จะสนับสนุนและใช้กลไกในการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เป็น Green Business ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก โดยในช่วงที่ผ่านมา บสย. ได้มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยถึงแนวทางในการดำเนินการไปบ้างแล้ว และจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 65
“นโยบายของ บสย. นอกจากไปช่วยธุรกิจในกลุ่ม s-curve ให้เดินหน้าธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมายังมีผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าไปสนับสนุนกลุ่มอินโนเทคฯ ด้วย ซึ่ง บสย. ยินดีให้การสนับสนุนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี และในปี 65 บสย.จะมีการพูดถึงเรื่องการให้อินเซนทีฟ มากขึ้นด้วย จึงมองว่าธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวตามเทรนด์ของโลก เพราะนอกจากมีประโยชน์ต่อส่วนร่วมแล้ว ยังมีโอกาสในการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และสถาบันการเงินต่างๆ มากขึ้นด้วย”นางสาววสุกานต์กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,747 วันที่ 9 - 12 มกราคม พ.ศ. 2565