“อาคม” เผย หากลดภาษีน้ำมัน จะทำรัฐสูญรายได้ 2 พันล้าน/เดือน

05 ก.พ. 2565 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2565 | 18:01 น.

“อาคม” เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 65 พร้อมเดินหน้าคุมเงินเฟ้อไม่ให้เกินกรอบ 1%-3% ชี้น้ำมัน-อาหารแพง เป็นภาวะระยะสั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลแล้ว ย้ำลดภาษีน้ำมันคือทางเลือกสุดท้าย เหตุไม่ต้องการให้กระทบรายได้รัฐเดือนละกว่า 2 พันล้าน

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก 1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด 2. หนี้ครัวเรือน 3.หนี้ประเทศ หรือหนี้สาธารณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับ 59% ขณะที่การวิเคราะห์กันว่าหนี้สาธารณะเป็น “หนี้ท่วมหัว” นั้น ยอมรับว่าโควิด ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่ม ขณะที่หนี้สาธารณะจำเป็นต้องกู้เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ 3. ซัพพลายเซนขาดตลาด เนื่องจากความต้องการที่มากขึ้น และ 4. ราคาพลังงาน และอาหาร หรือสุกร และน้ำมัน

 

"ในเรื่องน้ำมัน และอาหารแพง ยังมองว่าเป็นภาวะระยะสั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าไปกำกับดูแลก่อนที่จะพูดถึงมาตรการภาษีต่างๆ โดยราคาน้ำมันหากลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 5-6 บาทต่อลิตร หากลดลงมารายได้รัฐหายแน่นอน หากลดภาษีน้ำมัน 1 เดือนรายได้จะหายไปกว่า 2,000 ล้านบาท ดังนั้นมาตรการภาษีจะเข้าไปช่วยเป็นมาตรการสุดท้าย เนื่องจากยังมีกองทุนน้ำมันที่ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันอยู่" นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์คาดการณ์เศรษฐกิจหลายแห่ง คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2565 เริ่มฟื้นตัว จะขยายตัวได้ 4% จากปี 2564 ที่มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 1% ซึ่งถือว่าไม่ได้สูงมาก เนื่องจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่กลับมา โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ 7  ล้านคน จากช่วงก่อนโควิดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 40 ล้านคน  แต่ตัวเลขก็จะทยอยดีขึ้น จากปี 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 4 แสนคน

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า หลังผ่านช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง และแฮมเบอร์เกอร์ การเติบโตจีดีพีของประเทศไม่ได้หวือหวา อยู่ที่ระดับ 4%-5%  ปัจจุบันจีดีพีไทย อยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท หากต้องการให้จีดีพีขยับเพิ่มขึ้นมาอีก 1% จะต้องเพิ่มขนาดเศรษฐกิจประมาณ 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมั่นคง คือ เทคโนโลยี และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ทั้งนี้ปี 65 กระทรวงคลังมีนโยบายเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะนี้ ขณะที่นโยบายบริหารการคลัง ในระยะปานกลางจะเพิ่มศักยภาพการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม  มีวินัย และในปีงบประมาณ 2566 จะลดการขาดดุลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการจัดเก็บรายได้ของประเทศ

 

ส่วนนโยบายการเงินนั้น กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ ให้อยู่ในกรอบ 1%-3% หากในช่วงใดช่วงหนึ่งอัตราเงินเฟ้อสูงกว่ากรอบก็มีนโยบายดึงลงมา ขณะเดียวกัน มองว่าเมื่อเศณษฐกิจดีขึ้น ด้านนโยบายการเงินก็ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาค่าครองชีพเพิ่มสูง และเกิดภาวะเงินเฟ้อ

 

ส่วนกรณีกระแสข่าวกระทรวงการคลังเก็บภาษีหุ้น และภาษีคริปโตเคอร์เรนซี โดยภาษีคริปโตฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บมาแล้วตั้งแต่ปี 2561 ทั้งเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนภาษีหุ้นเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แต่ได้ยกเว้นให้ เพื่อช่วยการพัฒนาตลาดหุ้น ดังนั้นเมื่อขณะนี้ตลาดทุนพัฒนาขึ้น รายได้ก็ต้องคืนรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม