คริปโทเคอร์เรนซี ยังคงเป็นร้อนแรงที่ทุกภาคส่วนให้การพิพากวิจารย์ในหลากหลายแง่มุม ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) พบประเด็นปัญหาจากการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจหลายราย อาทิ
1. มีการโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนมาใช้บริการหรือลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีผ่านสื่อสาธารณะเป็นจำนวนมาก เช่น ป้ายโฆษณาตามถนน ในระบบขนส่งมวลชนและแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook TikTok YouTube เป็นต้น โดยไม่ได้มีคำเตือนเรื่อง ความเสี่ยงของการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งมีความผันผวนสูง หรือคำเตือนมีขนาดเล็ก เกินไปจนอาจมองไม่เห็น รวมถึงเนื้อหาการโฆษณามีการแสดงข้อมูลเพียงด้านบวก จึงอาจเป็นการชักชวนให้ประชาชนที่ไม่ได้พิจารณาข้อมูลและความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ก่อนการตัดสินใจ ใช้บริการหรือลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีและทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ซื้อขายได้
2. มีการโฆษณาที่เป็นการให้ข้อเท็จจริงในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีลักษณะทำให้ประชาชนสำคัญผิดในสาระสำคัญ เช่น การโฆษณาจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการโดยนับจำนวนบัญชีที่ยังไม่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนลูกค้าที่สามารถใช้บริการซื้อขายได้
3. กรรมการ ผู้บริหารของบริษัทในกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจมีการโฆษณา เชิญชวนให้ประชาชนมาใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจโดยขาดการกำกับดูแลการโฆษณา
4. บริษัทในกลุ่ม รวมถึงกรรมการผู้บริหารของบริษัทในกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. โฆษณา/ประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งทำให้ประชาชนอาจเข้าใจว่าการดำเนินการของบริษัทหรือบุคคลดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.
5. ปัจจุบันหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (Introducing Broker Agent – “IBA”) กรณีคริปโทเคอร์เรนซี จึงเป็นช่องทางช่วยส่งเสริมให้เกิดการชักชวนการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ เช่น The Monetary Authority of Singapore (MAS) ของสิงคโปร์ Spain's National Securities Market Commission (CNMV) ของสเปน UK's Financial Conduct Authority (FCA) ของอังกฤษ คณะกรรมาธิการยุโรป European Commission และ Financial Services Agency (FSA) ของญี่ปุ่น เป็นต้น ได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมและกำกับดูแลการโฆษณาเกี่ยวกับกิจการที่ให้บริการ ซื้อขายและการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคุ้มครองประชาชน ที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซี
ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ เช่น
1) การโฆษณาต้องไม่เกินความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ ให้ระบุเฉพาะจำนวนลูกค้าที่ได้รับอนุมัติให้เปิดบัญชีและพร้อมใช้บริการได้แล้วเท่านั้น
2) การโฆษณาต้องมีความชัดเจนและเหมาะสม เช่น ระบุคำเตือนเรื่องความเสี่ยงตามข้อความและขนาดตัวอักษรตามที่ ก.ล.ต. กำหนด
โดยต้องมีความคมชัดและสังเกตได้ง่าย หากมีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน ต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่กัน (Balanced view) เป็นต้น
3) การโฆษณาเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีให้ทำได้เฉพาะในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ห้ามโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่การโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการยังคงสามารถทำได้ในพื้นที่สาธารณะและช่องทางอื่น ๆ
4) ผู้ประกอบธุรกิจต้องควบคุมดูแลการโฆษณาของบริษัท บริษัทในกลุ่มที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการ เช่น ผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงผู้ทำโฆษณา และผู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการในสังคมออนไลน์ (Influencer) ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
5) ยกเลิกการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (Introducing Broker Agent: IBA) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี โดยผู้ประกอบธุรกิจโทเคนดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ยังมีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าได้ตามเดิม
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=780