ลงทุนอย่างไรเมื่อ Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

20 ก.พ. 2565 | 05:08 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2565 | 12:20 น.

เปิดมุมมอง"ดร.อมรเทพ" แนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสกัดเงินเฟ้อ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯพุ่ง มองกดดันบรรยากาศลงทุนในเดือน ก.พ.นี้ แต่คาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แนะนักลงทุนกระจายความเสี่ยงลงในหุ้นต่างประเทศ หุ้นสหรัฐฯ-ยุโรป

  • แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) การเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อตามราคาน้ำมัน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นจะกดดันบรรยากาศการลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์

 

  • โดยคาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อชะลอเงินเฟ้อ เพราะการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะเติบโตช้าลง หรือกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคได้

 

  • การลงทุนในช่วงนี้แนะนำว่า ควรกระจายการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป พร้อมรับกระแสเงินทุนที่จะไหลมาในฝั่งเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในจีนและเวียดนามตามมูลค่าสินทรัพย์ที่ยังน่าสนใจ

 

ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ผันผวนหนักอีกรอบหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและคาดว่าจะแตะระดับ 2% ในไม่ช้าตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และจากอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียและยูเครนกำลังเผชิญหน้าทางทหาร รวมถึงตะวันออกกลางมีปัญหาความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจกระทบต่อการผลิตน้ำมัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ราว 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลและมีแนวโน้มว่าอาจพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้หากปัญหายืดเยื้อและรุนแรง

การที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้นจากราคาน้ำมันและปัญหาอุปทานที่ขาดแคลนซึ่งคลี่คลายช้า ส่งผลกระทบกับราคารถยนต์มือสองและสินค้าสำคัญในสหรัฐฯ ตลอดจนตลาดกำลังเผชิญความผันผวนที่มาจากการที่ Fed มีท่าทีเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกำลังปรับน้ำหนักการพิจารณานโยบายการเงินไปสู่การรักษาเสถียรภาพด้านราคามากกว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

 

เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถเติบโตได้แข็งแกร่ง การจ้างงานกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปัญหาไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนก็ไม่ได้กระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก เมื่อ Fed มีมุมมองเช่นนี้ ตลาดทุนย่อมมีความผันผวนต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ จากสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด ผมจึงมีมุมมองดังนี้

 

ฟันธงเฟดไม่ใช้ยาแรง

 

ผมมองว่า Fed จะไม่ใช้ยาแรง ซึ่งนักลงทุนอาจกังวลว่าในรอบการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 15-16 มีนาคมนี้ Fed นอกจากจะสิ้นสุดมาตรการ QE แล้ว จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50 bps จาก 0 – 0.25% เป็นระดับ 0.50 – 0.75% เรียกว่าใช้ยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ทัน และจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้พร้อมเสนอการปรับลดงบดุลหรือการทำ Quantitative Tightening (QT) ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ผมกลับมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงในตอนต้น อาจยิ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะเติบโตช้าลง หรือกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคได้

อีกทั้งการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้อาจไม่ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงในทันที เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่เร่งขึ้นมาจากปัญหาด้านอุปทานที่ขาดแคลน เช่น คนยังไม่ได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากนัก การผลิตสินค้าโดยเฉพาะรถยนต์ยังทำได้ไม่ทันความต้องการ ส่งผลให้ราคารถยนต์มือสองพุ่งขึ้นเร็ว ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจช่วยชะลอฝั่งอุปสงค์หรือความต้องการสินค้า ให้คนชะลอการบริโภคและการลงทุน แต่ไม่น่าจะสามารถเร่งให้เกิดการคลายตัวของฝั่งอุปทานได้ โดยเฉพาะจากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

 

ผมจึงมองว่า Fed น่าจะรักษาสมดุลด้วยการส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม และมิถุนายน ติดต่อกัน 3 ครั้ง ครั้งละ 25bps และทิ้งระยะไปขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน ซึ่งหากเงินเฟ้อชะลอลงได้ในช่วงครึ่งปีหลังตามที่คาดไว้ Fed ก็ไม่น่าจะรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงปลายปี แต่จะหันไปใช้มาตรการ QT ควบคู่กับการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า เพราะอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังน่าจะลดลงได้ในช่วงครึ่งปีหลังให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4% หลังปัญหาด้านอุปทานคลี่คลายมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจนอาจสร้างปัญหาเงินเฟ้อไปทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยชั่วคราว เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงในช่วงไตรมาส 4 ลากยาวไปถึงไตรมาสแรก เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวฝั่งตะวันตกจะมีความต้องการพลังงานมาก แต่ความต้องการน้ำมันน่าจะปรับลดลงในไตรมาส 2 อีกทั้งหากตะวันออกกลางมีปัญหาการผลิตน้ำมันจนราคาเพิ่มสูงแล้ว

 

จึงมองว่าฝั่งโอเปกและรัสเซียน่าจะร่วมมือกันเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อหาโอกาสจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและป้องกันสหรัฐฯ จากการเร่งการลงทุนในอุตสาหกรรม Shale Oil ซึ่งจะยิ่งทำให้ส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันของโอเปกและพันธมิตรลดลงได้ในอนาคต แต่แน่นอนว่าความไม่แน่นอนจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed การเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อตามราคาน้ำมัน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นจะกดดันบรรยากาศการลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ แต่นักลงทุนในตลาดทุนก็รับรู้ข่าวนี้ไปมากแล้ว จึงมีคำแนะนำการลงทุนดังนี้

 

กระจายความเสี่ยงลงทุนหุ้นต่างประเทศ

 

ผมยังคงแนะนำนักลงทุนให้กระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีโอกาสฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มูลค่าไม่สูงจนเกินไป และไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปัญหาเงินเฟ้อมากนัก นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของสายพันธุ์โอมิครอนน่าจะเข้าสู่ระดับสูงสุดในไม่ช้า และน่าจะเห็นการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป

 

อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นของตลาดหุ้นในเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินและการคลังในจีน หลังจากธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอาจปรับลดลงอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งมีความพยายามกลับมาปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง ซึ่งน่าจะเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้

 

อย่างไรก็ดี จีนยังมีการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่อาจกระทบภาคบริการและการบริโภคของจีน แต่ผมมองว่าด้านการลงทุน การก่อสร้าง และการส่งออกจะเป็นเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 รวมทั้งการหาโอกาสในการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะเวียดนามตามมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีราคาน่าสนใจ โดยธีมการลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีคำแนะนำให้นักลงทุนแบ่งสัดส่วนการลงทุนใน 4 ธีม ได้แก่

 

4 ธีมหุ้นน่าลงทุน

 

1.กลุ่มเฮลท์แคร์ด้านเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์ ที่จะได้โอกาสจากสังคมสูงวัยในระยะยาว และจากการคลายความกังวลของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้คนกลับไปใช้บริการในโรงพยาบาลมากขึ้น

 

2.กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ที่ได้ประโยชน์จากกำลังซื้อของคนระดับกลาง-บนที่ยังแข็งแกร่ง และความต้องการสินค้ายังมีต่อเนื่อง

 

3.กลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องสูง มีเงินสดหมุนเวียน และไม่ได้มีภาระกู้ยืมมากเท่ากลุ่มเทคโนโลยีขนาดเล็ก ซึ่งยังสามารถเติบโตได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดี และการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพที่ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า รวมทั้งกลุ่มเทคโนโลยีในจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา หลังทางการจีนไม่ได้มีมาตรการควบคุมกิจกรรมใหม่

 

4.กลุ่มการเงินและการธนาคารในสหรัฐฯ ที่จะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งกลุ่มการเงินในยุโรป ถึงแม้ทางธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ยังไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่นักลงทุนน่าจะหาโอกาสเข้าไปรอทำกำไรจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

 

โดยสรุป ผมมองว่าตลาดทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยังคงมีความผันผวนจากการที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในเดือนมีนาคมนี้ แต่เชื่อว่า Fed ไม่น่าจะทำให้ตลาดทุนผันผวนหนักจนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งไปแรงจนกระทบต่อต้นทุนการบริโภคและการลงทุน จนย้อนกลับมากระทบเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ และมองว่า Fed จะส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป และรอดูการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในสภาวะที่ตลาดรอการตัดสินใจของ Fed ในเดือนมีนาคม ตลาดน่าจะแกว่งตัวในลักษณะ Sideways หรือแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ตามตัวเลขทางเศรษฐกิจและข่าวสำคัญ

 

ดังนั้น ผมยังคงคำแนะนำการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นโลก โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป พร้อมรับกระแสเงินทุนที่จะไหลมาในฝั่งเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในฝั่งจีนและเวียดนามตามมูลค่าสินทรัพย์ที่ยังน่าสนใจ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

โดย  : ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

 

ที่มา :  ตลท.