บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย สรุปทิศทาง “กองทุนหุ้นจีน” ลงทุนตอนนี้ดีไหม?
เกิดอะไรขึ้นกับ “ตลาดหุ้นจีน” ในช่วงปีที่ผ่านมา?
หุ้นจีนปี 2021 ปรับตัวลงหนัก โดย MSCI China 10/40 Net ผลตอบแทน -20% (กองทุน JMP China ผลตอบแทน -19.6%) ทิศทางการลงทุนที่เปลี่ยนจากหุ้นเติบโต (Growth) เป็นหุ้นคุณค่า (Value) และหุ้นวัฎจักร โดยปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นจีน มาจากการดำเนินนโยบายในหลายเรื่องซึ่งมี 3 ประเด็นที่สำคัญคือ
- การออกกฎระเบียบจำนวนมากของรัฐบาลจีน เพื่อควบคุมธุรกิจเทคโนโลยี - การศึกษา และนโยบาย Zero Covid กดดันการบริโภค
- นโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ส่งผลให้อุตสาหกรรม เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า
- ปัญหาหนี้สินของบริษัทภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
แต่จากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเริ่มมีท่าทีชะลอตัว รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สะสางปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ไม่เกิดผลกระทบในวงกว้าง ผ่อนคลายนโยบายทางการคลังพร้อมลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบช่วยเหลือผู้บริโภคและธุรกิจ SME
“ตลาดหุ้นจีน” ปีเสือทอง = โอกาสทอง?
“ตลาดหุ้นจีน” ปี 2021 คือ “ปีฟุบ” แต่ ปี 2022 คือ “ปีฟื้นตัว” โดยเหตุผลสนับสนุนตลาดหุ้นจีนคือ
- นโยบายทางการเงินยังคงผ่อนคลาย ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องในระบบ สวนทางกับหลายประเทศที่เริ่มเข้าสู่ช่วงของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดสภาพคล่องในระบบ
- รัฐบาลจีนส่งสัญญาณ “พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว” และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเม็ดเงินลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูงและเศรษฐกิจสีเขียว
- Valuation ของตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตและตลาดหุ้นอื่นๆ
- แรงกดดันเรื่องเรื่องกฎระเบียบลดลง เนื่องจากรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมไปหลายระลอก และตลาดได้รับรู้ปัจจัยดังกล่าวไปมากแล้ว
“ตลาดหุ้นจีน” ในมุมมองกองทุนหลัก JPMorgan
JPMorgan ระบุว่า ปัจจุบันคือยุค New Normal หรือ “ยุคการเปลี่ยนแปลงเพื่อความมั่นคงในระยะยาวของจีน” ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยอาจเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำลงกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เชื่อมั่นว่าจีนจะสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
“กองทุนหลัก JPMorgan Funds-China Fund (JPM China)”
- เน้นบริหารพอร์ตการลงทุนแบบเชิงรุก ลงทุนระยะยาว และเน้นคัดเลือกหุ้นรายตัว
- เน้นลงทุนหุ้นจีนทุกชนิด (All China) ที่มีคุณสมบัติร่วมคือ เป็นหุ้นเติบโต (Growth) คุณภาพสูง (High Quality) และอยู่ในกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Economy)
- ให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐาน การคัดเลือกหุ้นรายตัว และการวิจัยที่ครอบคลุม
- เน้นหุ้น 3 กลุ่มคือ กลุ่มเทคโนโลยี (ซอฟต์แวร์ หุ่นยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์), กลุ่ม Carbon Neutrality (รถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์) และกลุ่ม Consumption (สินค้าคุณภาพดี และสินค้าเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์ทางการแพทย์)
- Q4/2021 มีการปรับพอร์ตหลังเศรษฐกิจผ่านจุดสูงสุด ดังนี้ 1.
- เน้นลงทุนหุ้นกลุ่ม Quality Growth พร้อม Overweight หุ้นกลุ่ม Internet ที่เผชิญแรงขายอย่างหนัก และคาดว่าเป็นกลุ่มแรกที่สามารถฟื้นตัวได้
- เพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่ม Consumer Staple ที่ราคาลดลงมากมาก, กลุ่มเกม ที่มีการขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ (ไม่ใช่ผู้พัฒนาอสังหาฯ) เช่น ธุรกิจตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ฯลฯ
ความเสี่ยงของ “ตลาดหุ้นจีน” ที่ต้องจับตา
ในปี 2022 มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นจีนดังนี้
- การใช้นโยบาย Zero Covid ที่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ และการระบาดระลอกใหม่อาจส่งผลให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มคลี่คลายกลับมารุนแรงขึ้นได้
- ปัญหาหนี้ในภาคอสังริมทรัพย์ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักในการแก้ไขปัญหา และอาจกระทบในวงกว้าง ส่งผลให้ยอดขายและการลงทุนหดตัว ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
- อัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวของกับต้นทุนการผลิต หากอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะกดดันการดำเนินนโยบายการเงินและกำไรของบริษัทจดทะเบียน
- อาจมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพิ่มเติม ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
- ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงเปราะบาง กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน
คำแนะนำสำหรับนักลงทุน “ไปต่อ” หรือ “พักก่อน”
หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่ปี 2001 ดัชนี MSCI China มีการปรับฐานลงลึกกว่า 20% รวม 4 ครั้ง และ “ดัชนีมักฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากระดับต่ำสุดเสมอ” ขณะที่ในปี 2021 ดัชนีย่อตัวราว 30% ซึ่งคาดว่าเป็นจุดต่ำสุดของรอบนี้ และจะทยอยเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2022 นี้
ดังนั้น จึงแนะนำให้ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุนขึ้นเล็กน้อย” ในตลาดหุ้นจีน เพราะเป็นตลาดที่มีพื้นฐานดี Valuation อยู่ในระดับเหมาะสม และรัฐบาลจีนดำเนินนโยบายผ่อนคลายมากขึ้น โดยแนะนำกลยุทธ์การลงทุน 2 ข้อ คือ
- ลงทุนระยะยาว 3 ปีขึ้นไป การลงทุนในจีนให้ผลตอบแทนดีในระยะยาว แต่ระยะสั้นมีความผันผวนสูง และมีโอกาสขาดทุนสูงในบางช่วง
- แบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงและเป้าหมายในการลงทุน กระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน แนะนำให้แบ่งเงินมาลงทุนบางส่วนตามความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์เดียว 100% ของพอร์ต
แล้วตอนนี้...คุณมี “หุ้นจีน” ในพอร์ตมากน้อยแค่ไหน และมั่นใจในตลาดหุ้นจีนมากขึ้นหรือยัง?