thansettakij
สบน.จ่อออก Amortize Bond 1.5 หมื่นล้านบาท

สบน.จ่อออก Amortize Bond 1.5 หมื่นล้านบาท

09 มี.ค. 2565 | 06:53 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 13:54 น.

สบน.กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 65 เตรียมออก Amortized Bond 1.5 หมื่นล้านบาท อายุ 25 ปี ดอกเบี้ยคงที่ เผยรัฐบาลญี่ปุ่นไฟเขียวปล่อยกู้ไทย 500 ล้านดอลลาร์ รับมือโควิด-19 ดอกเบี้ย 0.01% อายุกู้ 15 ปี ปลอดเงินต้น 4 ปีแรก คาดอนุมัติวงเงินปลายมี.ค.นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า วันที่ 9 มีนาคมนี้ สบน.จะเปิดสอบถามความต้องการนักลงทุน ในการออกพันธบัตรรัฐบาลแบบทยอยชำระคืนเงินต้น หรือ Amortized Bond วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ อายุ 25 ปี เพื่อนำเงินมาใช้ชดเชยการขาดดุล ในปีงบประมาณ 2565

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

“การนำ Amortized Bond กลับมาใช้ เพื่อเป็นการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการระดมทุน ซึ่งที่ผ่านมาสบน.ได้ใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการระดมทุนกู้ชดเชยการขาดดุล เช่น การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond)” นางแพตริเซีย กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 จากรัฐบาลญี่ปุ่นวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ฯ นางแพตริ เซียกล่าวว่า ล่าสุดได้รับการตอบรับจากรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ดำเนินการให้รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติวงเงิน ซึ่งวงเงินที่ให้กู้ยืมจะเป็นสกุลเงินเยน อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ 15 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นในช่วง 4 ปีแรก ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลปลายเดือนมีนาคมนี้ 

 

“เงินกู้จากญี่ปุ่น เป็นแพคเกจที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาช่วยเหลือทางการเงินให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เท่ากันทุกประเทศ ไม่ใช่ให้เฉพาะไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยขณะนี้อยู่ระหว่าอนุมัติวงเงิน คาดจะรู้ผลในช่วงสิ้นเดือนมีนานี้”นางแพตริเซีย กล่าว  
 

ขณะที่ความคืบหน้า การกู้เงินแก้ปัญหาโควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท นั้น ขณะนี้ ครม. ได้อนุมัติวงเงินกู้ไปแล้วประมาณ 4.02 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้วคิดเป็น 76.5% ของวงเงินที่อนุมัติ โดยยังคงเหลือวงเงินให้ ครม. อนุมัติได้อีก 9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ 59.88% และหากกู้ตามวงเงินทั้งหมด จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 อยู่ที่ 62% ภายใต้จีดีพีโต 3.5% - 4.5% 

 

“วงเงินที่เหลือจะเพียงพอสำหรับการรับมือโควิด-19 หรือไม่นั้น จะต้องไปพิจารณาว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มอีกหรือไม่ โดยขณะนี้ยังไม่มีแผนการกู้เงินเพิ่มในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีการปิดประเทศ ดังนั้นการกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิดคงไม่มี”นางแพตริเซีย กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,764 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2565