"บจ.ไทย"ปี 64โกยกำไร 9.86 แสนล้าน "พลังงาน-ปิโตร"หนุน/ ประกันอ่วมสุด

12 มี.ค. 2565 | 02:29 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2565 | 09:41 น.

ตลท. ผลดำเนินการ บจ.ไทยปี 64 ยอดขายรวม 13.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.1% กำไรสุทธิ 9.86 แสล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.9% ชี้ 3 ปัจจัยหนุน การปรับตัวของราคาน้ำมันหนุน ธุรกิจปรับสู่วิถีแบบใหม่ และการผ่อนคลายมาตรการโควิด ด้านบจ. mai กำไรสุทธิ 8,438 ล้านบาท เพิ่ม 273.6%

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รายงานผลการดำเนินงานปี 2564 มียอดขายเติบโตสูง จากผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และการปรับธุรกิจให้รับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดี ทั้งนี้ ส่งผลให้ดัชนีชี้วัดการทำกำไรกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด

 

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บจ. จำนวน 757 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) คิดเป็น 97.1% จากทั้งหมด 780 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บจ. ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) นำส่งผลการดำเนินงานงวดปี 2564 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 592 บริษัท คิดเป็น 78.1% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

 

สรุปผลการดำเนินงานของ บจ. ใน SET งวดปี 2564 เทียบกับปี 2563 มียอดขายรวม 13,131,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.1% กำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,557,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.3% กำไรสุทธิ 985,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บจ. มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานและอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 11.9% และ 7.5% ตามลำดับ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นเดือนปี 2564 บจ. มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ระดับที่ 1.54 เท่า คงที่เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2563
 

\"บจ.ไทย\"ปี 64โกยกำไร 9.86 แสนล้าน \"พลังงาน-ปิโตร\"หนุน/ ประกันอ่วมสุด

ทั้งนี้ หากพิจารณาเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า บจ. มีผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยมียอดขาย กำไรจากการดำเนินงานหลัก และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีอัตรากำไรกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562

 

3 ปัจจัยเอื้อต่อการเติบโต

 

“ในปี 2564 มี 3 ปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการเติบโต ได้แก่ การปรับตัวของราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น การปรับรูปแบบธุรกิจไปสู่วิถีแบบใหม่ (New Normal) ให้รับมือสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และการผ่อนคลายมาตรการโควิดของไทย

 

ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนให้ บจ. มีกำไรจากการดำเนินงานหลักดีขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เหล็ก ขนส่ง (ทางเรือ) ธุรกิจการแพทย์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง และธุรกิจภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการฟื้นตัวอย่างมาก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุอุตสาหกรรม และชิ้นส่วนยานยนต์” นายแมนพงศ์กล่าว

ทั้งนี้หมวดที่สร้างกำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ พลังงานและสาธารณูปโภค จำนวน 284,848 ล้านบาท เติบโต 180.7% แซงหน้ากลุ่มธุรกิจการเงินที่มีกำไรสุทธิ 226,423 ล้านบาท เติบโต 23. 2% และหมวดธนาคารที่มีกำไรสุทธิ 188,229 ล้านบาท เติบโต29.8%

 

โดยหมวดเหล็กพุ่งแรงที่สุด 2,987.6 % มีกำไรสุทธิ 17,842 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนมีกำไรสุทธิเพียง 578 ล้านบาท ขณะที่ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 873% เป็น 85,638 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกันหมวดประกันภัยและประกันชีวิตขาดทุนมากสุดถึง -1 ,013 ล้านบาท พลิกจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 7,916 ล้านบาท ลดลงถึง 112.8% และหมวดท่องเที่ยวและสันทนากรขาดทุน 9,512 ล้านบาท เทียบกับปี2563 ที่มีผลขาดทุน 11,545ล้านบาท ถือว่าดีขึ้น 17.6%

 

ด้านผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปี 2564 มียอดขายรวม 171,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% กำไรจากการดำเนินงาน 10,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.9% และกำไรสุทธิ 8,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 273.6%

 

\"บจ.ไทย\"ปี 64โกยกำไร 9.86 แสนล้าน \"พลังงาน-ปิโตร\"หนุน/ ประกันอ่วมสุด

\"บจ.ไทย\"ปี 64โกยกำไร 9.86 แสนล้าน \"พลังงาน-ปิโตร\"หนุน/ ประกันอ่วมสุด