นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำรายละเอียดยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV นั้น ยังต้องมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในส่วนของสิทธิประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอในการผลิตรถ EV อยู่แล้ว ขณะเดียวกันอัตราภาษีต้องสร้างความเท่าเทียมและดึงดูดการเข้ามาลงทุนในไทย
"ต้องมีการหารือร่วมกับบีโอไอก่อน เพื่อไม่ให้สิทธิประโยชน์ที่จะให้เอกชน ไม่เกิดความซ้ำซ้อนกัน ขณะเดียวกัน อัตราภาษีนำเข้าก็ต้องเท่าเทียม เป็นธรรม และดึงดูดให้เกิดการเข้ามาลงทุนในไทยด้วย" นายพชร กล่าว
นายพชร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะให้นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบกับรายได้ของกรมฯ หรือหากจะกระทบบ้าง แต่หากมีการทำให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวกับการผลิตรถ EV เพิ่มขี้น หรือ สามารถดึงดูดไม่ให้เกิดการย้ายฐานการผลิตก็ถือว่าคุ้มค่า
ทั้งนี้ตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า กำหนดให้ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (Battery Electric Vehicles: BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม
โดยปัจจุบัน บีโอไอ ได้ขยายสิทธิประโยชน์การส่งเสริมไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV-PHEV-HEV ที่กำหนดให้ต้องผลิตภายในเวลา 3 ปีนับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม เพื่อส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ