สมาคมแบงก์ชูโรดแมป ดัน‘สินเชื่อสีเขียว’3 ปี

14 มี.ค. 2565 | 12:26 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2565 | 19:26 น.

สมาคมธนาคารชูโรดแมป 3 ปี ผลักดัน “สินเชื่อสีเขียว” หนุนผู้บริโภค ผู้ผลิต และ ผู้ลงทุนกรีนบอนด์ นำประเทศสู่เศรษฐกิจสีเขียว “กสิกรไทย” เผยภาคการเงินไทยยังมีโอกาสอีกมาก จากเม็ดเงิน ESG 31 ล้านล้านบาท แต่เป็นสินเชื่อสีเขียวแค่ 3.6 แสนล้านบาท

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา (Conference of the Parties หรือ COP26) รอบปีที่ผ่านมา ทุกประเทศตื่นตัวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change กันมากขึ้น เห็นได้จากแถลงการณ์เป็นคำมั่นสัญญาร่วมกันของทุกประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และลดการปล่อยให้ได้อย่างมากภายในปี 2573

 

หลายประเทศได้ประกาศนโยบายและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อเริ่งแก้ปัญหาวิกฤโลกร้อน และหมายรวมถึงการหยุดใช้ถ่านหิน,รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ปกป้องธรรมชาติด้วย

ล่าสุดนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ภาคการเงินของไทยในนามของสมาคมธนาคารไทยได้บรรจุเรื่อง การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) ซึ่งรวมถึง สินเชื่อสีเขียวเป็นแผน 3 ปีในการพัฒนาระบบการเงินของประเทศไทยต่อไปข้างหน้าแล้ว

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

“โดยเฉพาะเรื่องสินเชื่อสีเขียว(Green Loan)  เรื่อง ESG นั้นจะมี 2 ธนาคารคือ KBAK กับธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เป็นตัวหลักในการผลักดันเรื่องนี้ให้เด่นขึ้น แต่ก็จะมีอีกหลายที่มีธนาคารพาณิชย์อื่นรับไปดูแลด้วย”นางสาวขัตติยากล่าว

ทั้งนี้ในทางปฎิบัติ สิ่งที่ตั้งใจคือ จะสำรวจว่า แต่ละแห่งทำแล้ว มีความคืบหน้าไปถึงไหน จากนั้นจะนำข้อมูลมาประมวลของทุกธนาคารพาณิชย์รวมกัน โดยจัดอันดับและวางตำแหน่งว่า จะไปอุตสาหกรรมใดก่อน เพราะเรื่อง GO Green เป็นสิ่งที่ต้องไป ไม่ใช่สิ่งที่เลือกได้ ชีวิตและธุรกิจของลูกค้าและสนับสนุนให้ลูกค้าก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ และสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวผ่านตรงนี้และก้าวสู่ เศรษฐกิจสีเขียว เช่นกัน

 

สำหรับงบประมาณด้านสินเชื่อนั้น ธนาคารกำหนดจะปล่อยสินเชื่อสีเขียวอย่างน้อย 1-2 แสนล้านบาทจนถึงปี 2030 เพื่อสนับสนุนเรื่องนี้โดยเฉพาะ และปี 2030 กสิกรไทยเองได้กำหนดเป้าหมาย (Scope ที่ 1 และที่ 2) ซึ่งเป็นการมุ่งเน้น “Zero Carbon”

สมาคมแบงก์ชูโรดแมป ดัน‘สินเชื่อสีเขียว’3 ปี

ในแง่การพาลูกค้าให้ไปสู่เป้าหมายนั้น ทั้งธนาคารและลูกค้าต้องไปด้วยกัน ที่ผ่านมาปี 2564 มีการใช้เม็ดเงิน 31 ล้านล้านบาท เพื่อกิจกรรม ESG มากขึ้น เติบโตถึง 115% จากปีก่อน แต่ในแง่ของสินเชื่อสีเขียวไปได้แค่  3.66 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นหากมองพอร์ตทั้งหมด ภาคการเงินยังมีโอกาสที่จะนำพาลูกค้าไปได้อีกมาก

 

อย่างไรก็ตาม หากมองเฉพาะมุมธนาคารพาณิชย์คงไม่มีพลังมากนัก นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้ให้กู้แล้ว ในแง่ของผู้กู้ คือ ลูกค้า หรือผู้ผลิต รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหลายต้องเห็นความความสำคัญในการจะปรับเปลี่ยนเช่น การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Carbon นั้น ภาครัฐต้องมีบทบาทหลักในการกำหนดคำ “นิยาม” ว่า อย่างไหนเรียก Net Zero Carbon เพื่อจะให้สนับสนุนลูกค้าให้ไปตามแนวทางดังกล่าว

 

ขณะเดียวกันกลุ่มทุน หรือผู้ลงทุนในหุ้นกู้สีเขียว (Green Bonds) ที่สำคัญ ผู้บริโภคต้องตระหนักว่า จะใช้ผลิตภัณฑ์แบบไหน ซึ่งในต่างประเทศผู้ผลิจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะที่ธนาคารจะเตรียมวงเงินสินเชื่อและแรงจูงใจพิเศษไว้ แต่ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นได้จริง

 

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า กรุงศรีประกาศ “วิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Krungsri Carbon Neutrality Vision) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 และจากบริการทางการเงินภายในปี 2593

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด

 

นอกจากนั้นยังตั้งเป้าลดการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินให้เหลือศูนย์ภายในทศวรรษนี้ (2573) รวมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มการสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance Facility: SSF) เป็นเงิน 50,000-100,000 ล้านบาทภายในปี 2573

 

“ปี 2564 เราได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนผ่านการจัดจำหน่ายหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) หุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) เป็นเงิน 16,350 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดที่ 29% และยังมีการปล่อยสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) อีก 6,900 ล้านบาท”

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,765 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2565