thansettakij
บลจ.ทิสโก้ ส่งกองทุน TRAREEARTH  ลุยธุรกิจแร่หายาก

บลจ.ทิสโก้ ส่งกองทุน TRAREEARTH ลุยธุรกิจแร่หายาก

22 มี.ค. 2565 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2565 | 19:40 น.

บลจ.ทิสโก้ เสิร์ฟกองทุนเปิด ทิสโก้ Rare Earth & Strategic Metals (TRAREEARTH) ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแร่หายาก หัวใจหลักของสินค้านวัตกรรมทั่วโลก เปิด IPO วันที่ 23 มี.ค. - 7 เม.ย. 2565

นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า Rare Earth และ Strategic Metals เป็นกลุ่มของแร่ธาตุทางเคมี 17 ชนิดที่มีความสำคัญและเป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น สมาร์ทโฟน ชิป แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีพลังงานสีเขียว กังหันลม โซลาร์เซลล์  ระบบสื่อสารใยแก้วนำแสง เครื่องยนต์เครื่องบิน เครื่อง MRI ระบบ GPS และเลเซอร์

นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ. ทิสโก้ จำกัด นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ. ทิสโก้ จำกัด

 

ที่ผ่านมาชาติมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา ต่างต้องการเป็นผู้นำในการผลิตแร่ดังกล่าว และพบว่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกหยิบมาเป็นประเด็นกดดันการค้าระหว่างสองประเทศมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม แม้ Rare Earth จะมีอยู่ในโลกจำนวนมาก แต่อยู่กระจัดกระจายไม่ได้รวมในแหล่งเดียวกัน อีกทั้งกระบวนการทำเหมืองและถลุงแร่มีค่าใช้จ่ายสูง และมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถทำเหมืองถลุงแร่ดังกล่าวได้ ทำให้มีประเด็นข่าวการขาดแคลน Rare Earth ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณความต้องการที่มากกว่ากำลังการผลิต ซึ่งในอนาคตความต้องการ Rare Earth จะสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก BloombergNEF เมื่อปี 2563  พบว่า ความต้องการ Rare Earth สำหรับเป็นส่วนประกอบกังหันลมในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 2 เท่า  และความต้องการ Rare Earth สำหรับเป็นส่วนประกอบมอเตอร์ไฟฟ้าในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 17 เท่า

ดังนั้น เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสลงทุนในธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของโลกแห่งอนาคต บลจ.ทิสโก้เปิดเสนอขายกองทุนเปิด ทิสโก้ Rare Earth & Strategic Metals (TRAREEARTH) กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต การขุดเหมืองแร่ การถลุงและรีไซเคิลแร่หายาก (Rare Earth) และ/หรือ แร่โลหะที่มีความจำเป็นต่อกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Strategic Metals) ทั่วโลก ผ่านกองทุนรวมอีทีเอฟอย่างน้อย 2 กองทุน

 

เสนอขายครั้งแรก (IPO) 23 มีนาคม - 7 เมษายน 2565 ทั้งนี้ กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม Materials จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก 

 

สำหรับตัวอย่างบริษัทที่กองทุนหลักเข้าไปลงทุน เช่น Pilbara Minerals บริษัทเหมืองแร่ Lithium รวมไปถึงการ กลั่นแร่ชั้นนำของออสเตรเลีย เพื่อผลิต Lithium Battery ของรถยนต์ไฟฟ้า มีรายได้และการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เช่น CATL ผู้ผลิตสารประกอบลิเธียมรายใหญ่ที่สุดของจีน Ganfeng Lithium ผู้ผลิตโลหะลิเทียมที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีนและอันดับ 3 ของโลก เป็นต้น 

 

ตัวอย่างต่อมาคือ Contemporary Amperex Technology Co. (CATL) บริษัทแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีน เชี่ยวชาญด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน และระบบการจัดการแบตเตอรี่ มีลูกค้ารายใหญ่อย่าง BMW, Volkswagen, Mercedes – Benz และ Apple และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ TESLA ในจีน นอกจากนี้ ในปี 2564 CATL ยังครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของโลกและครองมูลค่าตลาดอันดับ 1 ในกลุ่ม Hard Tech จีน อีกด้วย 

 

ตัวอย่างสุดท้ายคือ Lynas Rare Earths บริษัทขุดแร่หายากของออสเตรเลีย ผู้ผลิต Rare Earths ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกซึ่งอยู่นอกประเทศจีน ผลกำไรงวดครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2563 - 2565 เติบโตเฉลี่ย 534% ต่อปี และยังควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด