ดาวโจนส์ปิดดิ่ง 448 จุด กังวลน้ำมันพุ่งกดดันเงินเฟ้อ-เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

23 มี.ค. 2565 | 23:52 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 07:20 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (23 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,358.50 จุด ลดลง 448.96 จุด หรือ -1.29% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,456.24 จุด ลดลง 55.37 จุด หรือ -1.23% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,922.60 จุด ลดลง 186.21 จุด หรือ -1.32%
         

บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่วา การพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นกว่า 5% เมื่อคืนนี้ หลังมีรายงานว่าบริษัทแคสเปียน ไปป์ไลน์ คอนซอร์เทียม (Caspian Pipeline Consortium -CPC) ของคาซัคสถาน ระงับการส่งออกน้ำมันเนื่องจากประสบความเสียหายจากพายุ
         

นักลงทุนจับตาการประชุมผู้นำนาโตที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมในวันนี้ (24 มี.ค.) เพื่อหารือกันเกี่ยวกับการวางแผนกดดันให้รัสเซียยุติการโจมตียูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์เพื่อพบปะหารือกับผู้นำของนาโตด้วย
 

หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง 1.84% โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 2.16% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ลดลง 1.88% หุ้นเจพีมอร์แกน ร่วงลง 1.99% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดิ่งลง 2.49%
          

หุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 2.69% โดยราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ตกในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ผู้โดยสาร 132 คนเสียชีวิตทั้งหมด
         

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น 1.74% โดยหุ้นเบเกอร์ ฮิวจ์ ทะยานขึ้น 2.87% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน พุ่งขึ้น 2.63% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ พุ่งขึ้น 2.54% หุ้นเอ็กซอน โมบิล เพิ่มขึ้น 1.58% หุ้นเชฟรอน เพิ่มขึ้น 1.1%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 2% สู่ระดับ 772,000 ยูนิตในเดือนก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 810,000 ยูนิต โดยยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งขึ้น และการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
         

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นีได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน