ตามติดวิกฤตยูเครน: ยุโรปหลังแอ่น รับผู้อพยพหนีภัยสงคราม 3.5 ล้านคน

23 มี.ค. 2565 | 17:11 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 00:20 น.

UN ชี้ประเทศในยุโรปตะวันออกกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ต้องรับภาระหนัก หลังผู้อพยพหนีภัยสงครามจากยูเครนทะลักแตะ 3.5 ล้านคนแล้วในขณะนี้ นี่คือวิกฤตผู้ลี้ภัย “ครั้งใหญ่ที่สุด” นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

รายงานของ องค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์ (22 มี.ค.) ชี้ว่า ประชาชนกว่า 3.5 ล้านคนได้อพยพหนี ภัยสงคราม ใน ยูเครน ไปยังประเทศอื่น ๆ รอบด้าน ส่งผลให้ประเทศในยุโรปตะวันออกต้องระดมความช่วยเหลือในการดูแล จัดหาโรงเรียนให้เด็ก ๆ รวมถึงหางานทำให้กับ ผู้อพยพชาวยูเครน แม้ว่าตัวเลขผู้เดินทางข้ามพรมแดนรายวันจะลดลงบ้างแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประชาชนหลายล้านคนเดินทางออกจากยูเครนนับตั้งแต่ที่รัสเซียได้ส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยผู้อพยพได้ใช้ทุกรูปแบบการเดินทาง ทั้งทางรถไฟ รถบัส รถยนต์ รวมถึงเดินเท้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โปแลนด์และโรมาเนีย ขณะที่บางส่วนอพยพไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วยุโรป อย่างไรก็ดี ชาวยูเครนส่วนใหญ่ยังคงปักหลักอยู่ในประเทศแม้ว่ากองทัพรัสเซียจะระดมโจมตีอย่างหนักในหลายพื้นที่

ตามติดวิกฤตยูเครน: ยุโรปหลังแอ่น รับผู้อพยพหนีภัยสงคราม 3.5 ล้านคน

“โปแลนด์” รับผู้อพยพจำนวนมากที่สุด

รายงานของ UN ระบุว่า ถึงแม้จำนวนผู้อพยพข้ามพรมแดนจะลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ภาระในการหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้หนีภัยสงครามในยูเครนเข้ามายังสหภาพยุโรป (อียู) ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง

 

ด้าน โปแลนด์ ซึ่งเป็นที่พำนักของชาวยูเครนพลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตั้งแต่ช่วงก่อนสงคราม มีผู้อพยพเข้ามากว่า 2.1 ล้านคน และแม้ว่าบางส่วนได้วางแผนเดินทางต่อไปยังประเทศอื่น แต่จำนวนผู้ลี้ภัยที่ทะลักเข้ามานั้นได้ทำให้บริการสาธารณะของโปแลนด์ประสบปัญหาในการรับมือ

 

นายพริเซอมิสลาฟ ชาร์เนก รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของโปแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุของรัฐบาลว่า จำนวนเด็กผู้ลี้ภัยจากยูเครนที่โรงเรียนในโปแลนด์รับเข้ามา ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 10,000 คนต่อวัน โดยมีเด็กยูเครน 85,000 คนสมัครเข้าโรงเรียนในโปแลนด์แล้ว

 

อังกฤษชูโครงการ “เปิดบ้าน”รับผู้อพยพ

เมื่อเร็ว ๆนี้ รัฐบาลอังกฤษประกาศเปิดตัว โครงการ Homes for Ukraine เชิญชวนประชาชนเปิดบ้านต้อนรับผู้อพยพจากยูเครน โดยรัฐบาลอังกฤษจะให้การสนับสนุนเงินจำนวน 350 ปอนด์ต่อเดือน (ราว 15,000 บาท) ให้ครัวเรือนในอังกฤษที่เสนอห้องว่าง หรืออสังหาริมทรัพย์เปล่า ให้แก่ผู้ลี้ภัยจากยูเครนได้พักอาศัยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

นายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยกระดับประเทศ การเคหะ และชุมชน ในฐานะเลขาธิการนโยบายยกระดับการพัฒนาประเทศ (Levelling Up) เป็นผู้ประกาศโครงการดังกล่าว เขากระตุ้นให้ประชาชนชาวอังกฤษแสดงบทบาทร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามระดับชาติ ที่จะมอบบ้านที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ลี้ภัย

 

“วิกฤตในยูเครนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เนื่องจากผู้บริสุทธิ์หลายแสนคนถูกบีบบังคับให้ต้องหนีออกจากบ้าน โดยทิ้งทุกสิ่งที่พวกเขารักและรู้จักไว้เบื้องหลัง” นายโกฟย้ำว่า อังกฤษจะให้ความสนับสนุนยูเครนในช่วงเวลาที่ “มืดมนที่สุด” ของพวกเขา และชาวอังกฤษเข้าใจดี ถึงความจำเป็นในการรับคนจำนวนมากให้ปลอดภัยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ทั้งนี้ การสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถทำได้ทางออนไลน์ โดยทั้งผู้อุปการะ (เจ้าบ้าน) และผู้ลี้ภัยจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ จากนั้นเจ้าบ้านจะได้รับ “เงินขอบคุณ” จากรัฐบาลอังกฤษ จำนวน 350 ปอนด์ต่อเดือน

 

ในช่วงแรกโครงการ Homes for Ukraine ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มี.ค. จะช่วยให้ชาวอังกฤษ ซึ่งทางโครงการเรียกว่า “สปอนเซอร์” สามารถเสนอชื่อบุคคลหรือครอบครัวชาวยูเครนให้มาพักอาศัยร่วมกันในบ้านหรือในอสังหาริมทรัพย์อื่นของพวกเขาเป็นเวลา 6 เดือน โดยที่สปอนเซอร์ไม่จำเป็นต้องรู้จักผู้ลี้ภัยชาวยูเครนล่วงหน้า แต่อาจพบกันผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดียได้

 

นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว โครงการนี้ยังจะเปิดให้องค์กรต่างๆ เช่น องค์กรการกุศลและคริสตจักร สามารถเข้าร่วมด้วยในระยะต่อไปของโครงการ แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเริ่มเมื่อไร

 

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมี.ค. สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบในกองทุนของหน่วยงานการกุศลของอังกฤษ เพื่อช่วยเหลือชาวยูเครนที่อพยพลี้ภัยหนีการรุกรานของรัสเซีย การพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ครั้งนี้ได้รับการเปิดเผยโดยคณะกรรมการฉุกเฉินด้านภัยพิบัติ (ดีอีซี) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวแทนของสภากาชาดอังกฤษและอีก 14 องค์กรการกุศล

 

ข่าวไม่ได้ระบุว่าสมเด็จพระราชินีทรงร่วมบริจาคเป็นจำนวนเท่าใด แต่ในการระดมทุนครั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษประกาศไว้แล้วว่า รัฐบาลจะสมทบทุนให้กับเงินบริจาคของประชาชนแบบปอนด์ต่อปอนด์ โดยมีวงเงินสูงสุดที่ 20 ล้านปอนด์

ผู้อพยพลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก

วิกฤตผู้ลี้ภัย “ครั้งใหญ่ที่สุด” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

UN ระบุว่า คลื่นผู้ลี้ภัยที่อพยพออกจากยูเครนครั้งนี้ เป็นวิกฤตผู้ลี้ภัย “ครั้งใหญ่ที่สุด” นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ใช้เส้นทางอพยพโดยข้ามชายแดนเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันตกของยูเครน เช่น โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย ฮังการี และมอลโดวา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเลือกอพยพไปทางฝั่งตะวันออกเข้าสู่ประเทศรัสเซีย และเบลารุส

 

ข้อมูลจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR ( ข้อมูล ณ วันที่ 8 มี.ค.2565) ระบุว่า มีผู้อพยพลี้ภัยสงครามจากยูเครนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก ไปยังประเทศต่างๆในยุโรป ดังนี้

  • โปแลนด์ 1,294,903 คน
  • ฮังการี 203,222 คน
  • สโลวาเกีย 153,303 คน
  • รัสเซีย 99,300 คน
  • โรมาเนีย 85,444 คน
  • มอลโดวา 82,762 คน
  • เบลารุส 592 คน
  • ส่วนอีกกว่า 235,000 คน มุ่งหน้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในอียู

 

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อนุญาตให้ผู้อพยพชาวยูเครนมีที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 3 ปีโดยไม่ต้องมีวีซ่า แต่ในส่วนของอังกฤษ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกอียูแล้วนั้น ยังคงต้องใช้ระบบวีซ่าเพื่อควบคุมการเข้าประเทศด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง