ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่คงจะอยู่ตลอดปี จะผลักดันให้ ราคาวัตถุดิบตลาดโลก มีแนวโน้มยืนระดับสูงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2565 จึงกระทบต้นทุนการผลิต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ คือ ผู้ผลิตอาหาร รถยนต์ วัสดุก่อสร้าง และ บรรจุภัณฑ์ เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบต่อต้นทุนรวมค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ราคาวัตถุดิบตลาดโลก ทั้งพลังงาน (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ) โภคภัณฑ์เกษตรและโลหะอุตสาหกรรม (ข้าวสาลี ข้าวโพด ปุ๋ยเคมี พืชน้ำมัน เหล็ก นิกเกิล อะลูมิเนียม ) น่าจะยืนระดับสูงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2565 ซ้ำเติมความไม่สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ในตลาดโลก รวมทั้งทำให้ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานกลับมารุนแรงอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบ ต่างๆ อาจย่อลงได้ในครึ่งปีหลังในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาจนได้ข้อยุติหรือมีสัญญาณบวกเกิดขึ้น แต่ราคาเฉลี่ยทั้งปี 2565 นี้คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปี 2563-2564
ดังนั้น ราคาวัตถุดิบ ต่างๆ ในประเทศจึงมีแนวโน้มปรับขึ้นจากปีก่อนและยืนสูงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีนี้สอดคล้องกับราคาตลาดโลก เนื่องจากส่วนใหญ่ไทยพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำเหล่านี้และ/หรือราคาในประเทศ มักจะเคลื่อนไหวตามราคาในตลาดโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปี 2565 ราคาวัตถุดิบกลุ่มพลังงานอย่างน้ำมันกลุ่มเบนซิน (แก็สโซฮอล 95) อาจจะปรับขึ้นเฉลี่ยราว 35-40% จากปีก่อน ขณะที่ราคาวัตถุดิบกลุ่มอาหารทั้งอาหารสัตว์และอาหารคนที่เป็นต้นน้ำของการผลิตอาหาร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แป้งข้าวสาลี น้ำมันปาล์มขวด อาจปรับขึ้นเฉลี่ยราว 24-46% ส่วนราคาเหล็กอาจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 5-10%
ทิศทางดังกล่าว ทำให้คาดว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตที่เป็นหนึ่งในมาตรวัดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ อาจจะเพิ่มขึ้นในปี 2565 เฉลี่ยราว 6.0-8.5% เทียบกับที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.7% ในปี 2564 และ 9.0% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบทั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบต่างๆ ที่มากกว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ในกรณีที่ไม่มีสงคราม ความจำเป็นที่จะต้องหาสินค้าทดแทนในสถานการณ์ที่ของจะหายากขึ้นหรือไม่มีของ ซึ่งเป็นภาระต้นทุนที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องแบกรับไว้ผ่านกำไร/มาร์จิ้นที่ลดลง หรือบางส่วนอาจต้องชะลอ/หยุดผลิตลงชั่วคราว
ทั้งนี้ ผลกระทบแต่ละธุรกิจจะแตกต่างกัน ขึ้นกับสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบต่อต้นทุนรวมและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ ผลกระทบบางส่วนอาจจะตกไปยังผู้บริโภคผ่านการทยอยปรับราคาสินค้าในระยะเวลาถัดๆ ไปขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณสต็อกคงเหลือ ความสามารถในการหาวัตถุดิบ