นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะเข้าจัดเก็บภาษีการขายหุ้น Transaction Financial Tax แต่เนื่องจากขณะนี้ สถานการณ์ยังไม่เหมาะสม จึงขอเลื่อนการใช้นโยบายดังกล่าวออกไป
"ภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ได้รับผลกระทบทั้งจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน และ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้อาจจำเป็นต้องชะลอการจัดเก็บภาษีตัวนี้ออกไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากถามถึงความพร้อมในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ กระทรวงการคลังมีความพร้อม" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวและว่า
ส่วนประเด็นเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีหุ้นนั้น ตนคิดว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น บางประเทศเก็บน้อยกว่าไทย บางประเทศเก็บมากกว่า ขณะที่บางประเทศเก็บเป็นแบบ capital gain ไม่ได้เก็บจากการขาย
“ในแง่อัตราการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาดมากนัก และเข้าใจว่าคนที่อยู่ในตลาดนี้มีรายได้ค่อนข้างสูง”
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วกระทรวงการคลัง มีกฎหมายออกมาให้เก็บภาษีตัวนี้ตั้งแต่ปี 2535 แต่กระทรวงการคลังได้ยกเว้นมาโดยตลอดเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์ ที่ช่วงนั้นมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 7 - 8 แสนล้านบาท แต่วันนี้มูลค่าตลาดสูงถึง 16 ล้านล้านบาท หรือพอๆกับขนาดของจีดีพีประเทศ"
ด้านนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า หากมีการเลื่อนการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นออกไป จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากกรมสรรพากร ยังไม่ได้นำรายได้ตัวนี้เข้ามารวมในคาดการณ์รายได้ของกรมในปีงบประมาณดังกล่าว
“มีเพียงรายได้จาก ภาษี e-service ที่กรมได้นำมารวมเป็นคาดการณ์รายได้ของกรม ซึ่งเดิมสรรพากร คาดว่าจะมีรายได้จากภาษี e-service ในปีงบประมาณนี้ที่ 5 พันล้านบาท ขณะนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรมสรรพากร ได้เคยศึกษาว่า หากต้องจัดเก็บภาษีการขายหุ้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 0.11 %ของยอดขาย จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อนักลงทุนในตลาด โดยพบว่า นักลงราว 80 % จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะมูลค่าการขายหุ้นต่อเดือนไม่เกิน 1 ล้านบาท
สำหรับอัตราการจัดเก็บนั้น ถูกกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรอยู่แล้วที่ 0.1% ของการขาย บวกกับภาษีท้องถิ่นอีก 10 % รวมเป็น 0.11% แต่ภาษีตัวนี้ได้รับการยกเว้นมานานถึง 30 ปีแล้ว