ในเวทีงานเสวนา "เหลียวหลัง แลหน้า อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” จัดโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วานนี้ (4 เม.ย.) เนื่องในโอกาส ครบรอบ 80 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย 6 อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ได้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำหน้าที่ของธปท. ท่ามกลางความท้าทายและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งส่งต่อแนวคิดการทำงานของธปท.ในอนาคต
"ธปท. ต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะถูกใจนักการเมืองหรือไม่"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2544-2549) เปิดประเด็นเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อนโยบายการคลังในปัจจุบันของไทยว่า นโยบายการคลังในปัจจุบันเหมือนไม่มีนโยบายการคลัง เพราะเป็นการใช้เงินงบประมาณไปเรื่อย ๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการขาดดุลงบประมาณเท่าไรถึงจะเพียงพอ
ทั้งนี้ มองว่าตอนนี้ประเทศควรจะเน้นการมีนโยบายการคลังที่จริงจัง ขณะที่นโยบายการเงินก็ยังคงต้องทำหน้าที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป เพราะหากเศรษฐกิจของประเทศไม่เติบโต การเก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศก็จะทำได้ยาก
"มันอยู่ตรงนี้ ตรงที่คนที่ดำเนินนโยบายการคลัง เขาไม่ดำเนินนโยบายการคลังในสิ่งที่ควรจะทำ ถ้าทำในสิ่งที่ควรทำ นโยบายการเงินก็ช่วยสนับสนุน ก็หมดปัญหาไป อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลว่าจะคิดหรือไม่คิด" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว นอกจากนี้ ยังฝากให้ ธปท. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะถูกใจนักการเมืองหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร แต่ทั้งนี้ ต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ทำงานด้านเศรษฐกิจ โดยนำความคิดเห็นมาประกอบกัน นโยบายการเงินต้องประสานกับนโยบายการคลังเพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ
“ผู้ว่าฯ ธปท.จะต้องประสานงานกับ รมว.คลัง ให้เข้าใจกันอย่างดี ไม่ทำตัวเหนือกระทรวงการคลัง แต่ไม่ใช่ทำตามไปหมด และสุดท้าย ธปท. ต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นลูก ไม่ใช่เป็นศัตรู หากทำผิดก็ลงโทษได้ ให้ปรับปรุงแก้ไขให้ดี แต่ไม่ใช่ลงโทษเพื่อทำลาย เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจ ธปท.ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ถ้าไม่มีธนาคารพาณิชย์”
"ภาระทางการคลังได้ซ่อนปัญหาไว้ในระยะยาว"
นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2540-2541) กล่าวในงานเดียวกันว่า ความท้าทายของ ธปท.ที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือความท้าทายที่มาจากด้านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้จะมีข้อดีที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันและเป็นทางเลือกที่ดี แต่ในฐานะ ธปท.ต้องมองไปข้างหน้าว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด เช่น ทำให้ Landscape ของสถาบันการเงินเปลี่ยนแปลงแค่ไหน การตอบสนองต่อผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ซึ่ง ธปท.ต้องทันต่อเหตุการณ์นั้น หลายเรื่องเปรียบเหมือนต้องไล่ตามสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่โดยส่วนตัวก็เชื่อในพื้นฐานของธปท.ที่วางไว้ดี
"ในเรื่องคริปโตฯ เราใช้ความเป็นผู้กำกับดูแลที่จะบอกว่าเราไม่สนับสนุนให้ทำ เป็นการออกแรงอย่างทันสมัย การทำงานของธปท.อาจยากขึ้น เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้นกว่าในอดีต" นายชัยวัฒน์ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายชัยวัฒน์ ยังให้ความเห็นต่อนโยบายการคลังในปัจจุบันว่า ในส่วนของภาครัฐค่อนข้างมีความน่าเป็นห่วง เพราะภาระหนี้สูง และยังมีการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ซึ่งภาระทางการคลังได้ซ่อนปัญหาไว้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนมองว่าการทำนโยบายประชานิยมกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่นโยบายการคลังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีกว่านี้ ภาระจะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน
"ปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่องที่เกิดขึ้นมักมาจากภาคของ real sector ซึ่งสุดท้ายมาส่งผลให้การเงินไม่มีเสถียรภาพ ทั้งที่การเงินอยู่ปลายเหตุ ทำให้เป็นภาระของนโยบายการเงินที่จะต้องเข้ามาแก้ไข ดังนั้น ต้องพยายามออกแรงพูดคุยกับรัฐบาล ที่ส่วนมากเขาก็ไม่ค่อยฟัง เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมว่าเราจะเหนื่อยมาก แต่ก็ต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเมื่อไรที่มีความจำเป็นชัดเจนว่าเราต้องทำนโยบายที่คนไม่ชอบ เราก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเรา (ธปท.) เป็นด่านสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน" นายชัยวัฒน์ระบุ
"ปัญหาใหญ่ขณะนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการ-ธรรมาภิบาล"
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่า ธปท. (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2553-2558) กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือธรรมาภิบาลของประเทศ เป็นเรื่องระบบยุติธรรม ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย เชื่อว่าธรรมาภิบาลไม่ดี จึงเกิดการขัดขวาง ไม่เห็นด้วย (discourage) เช่น กรณีมีผู้ที่บอกว่าขาดคนที่เก่งความรู้เทคโนโลยี ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เก่งมาก แต่พวกเขาเลือกไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นเรื่องที่กว้างกว่าเศรษฐกิจจริง ไม่ใช่เรื่องนโยบายการเงินการคลัง จึงจำเป็นต้องมีการปรับวิธีการคิด (Rethink) หรือปรับรูปแบบ (Reform) การบริหารราชการใหม่
นอกจากนี้ยังมองว่า เสาหลักสำคัญ 3 เสาของ ธปท. คือ
นายประสาร ยังให้ความเห็นต่อเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมองว่าขณะนี้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเพียงฉากหนึ่ง บทหนึ่ง เป็นจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านเข้ามา ซึ่งในอนาคตก็อาจมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่ไม่รู้จบ แต่หลักการของ ธปท. คือ 1. ต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต 2. ถ้ามีเรื่องต้องปรับเปลี่ยนเมื่อไร จะต้องรู้ก่อน 3. ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายให้เกิดประสิทธิภาพ
"ความเป็นอิสระในการทำงาน ปัจจุบันประสบความสำเร็จเพียงครึ่งเดียว"
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2541-2544) กล่าวว่า ได้เคยผลักดันให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ทำให้ได้แนวคิดใหม่ๆ จากทุกภาคส่วนเพื่อเปิดหูเปิดตา ธปท.ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศ แต่ปัจจุบันการจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี จะเป็นการนำเสนอความคิดเห็นของบุคลากรของ ธปท.เสียส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีใครกล้ามาถกเถียงด้วยเพราะเกรงใจ ธปท. นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่พยายามผลักดัน คือความเป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งมาจนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จเพียงครึ่งเดียว
"สิ่งที่ท้าทายมากในขณะนี้ คือปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาก"
ด้าน นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2549-2553) กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีประสบการณ์การทำงานในการแก้ไขปัญหาวิกฤต 2 ครั้ง คือ ในปี 2540 และปี 2551 ซึ่งมีความท้าทายและความตื่นเต้น โดยงานหลักของ ธปท. คือการสร้างความเชื่อมั่น และคิดว่าในการทำงานของผู้ว่าฯ ธปท. แต่ละคนน่าจะมีความท้าทายต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม
ในช่วงที่เป็นผู้ว่าฯ ธปท. ต้องเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นประเทศเปิด และมีระบบเศรษฐกิจเล็ก ทำให้ต้องกำหนดมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อสกัดเงินทุนต่างประเทศระยะสั้นไหลเข้าอย่างเดียว ซึ่งช่วยให้มีเวลาที่จะติดตามแหล่งที่มาของเงินทุนได้มากขึ้น ธปท.มีหน้าที่ทำอย่างไรให้การดูแลเครื่องจักรทางเศรษฐกิจทุกตัวให้สามารถทำงานอย่างแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน โครงสร้างเศรษฐกิจมีความสมดุล โดย ธปท.มีความจำเป็นที่จะไปพูดคุยกับภาคเอกชน
สิ่งที่ท้าทายมากขณะนี้ คือปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปมาก ซึ่งรัฐบาลมองว่ามีสาเหตุจากราคาน้ำมัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงการทำงานด้วยหลักการและเหตุผล
สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่สภาพคล่องเหือดหายไปจากระบบนั้น ยังมีความโชคดีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้พึ่งพาเงินในระบบจึงไม่เกิดปัญหาเรื่องสินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับธนาคารพาณิชย์ให้รับรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น จนสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้
ส่วนความท้าทายทางการเมืองในฐานะที่ได้ทำงานร่วมกับ 4 รัฐบาล และ 5 รมว.คลังนั้น โดยผลกระทบด้านบวกในช่วงที่เป็น สนช. ทำงานง่ายขึ้น เพราะส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชน ส่วนผลกระทบด้านลบนั้น เคยเจอฝ่ายการเมืองอยากเอาคนของตัวเองที่มีประวัติด่างพร้อยเข้ามาเป็นกรรมการในธนาคารที่กองทุนการเงินฯ ถือหุ้นอยู่ แต่สามารถดำเนินการป้องกันไว้ได้ แม้จะเกิดแรงกดดันพอสมควร และถือเป็นเรื่องสำคัญที่ ธปท.ต้องยึดความถูกต้อง โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบตามมาอย่างไร และในช่วงปี 52-53 ที่เกิดการชุมนุมทางการเมือง ธปท.สามารถดูแลระบบสถาบันการเงินของประเทศไม่ให้เกิดผลกระทบจากความเสี่ยงทางการเมือง
"เรื่องผู้บริหารมีความสำคัญ หากไม่มีความสุจริต จะเกิดปัญหามากมายตามมาในภายหลัง" นางธาริษา กล่าว
"หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจจะกลายเป็นระเบิดเวลา"
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2558-2563) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท. ไม่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องความอ่อนแอของธนาคารพาณิชย์ สถานการณ์ต่างประเทศที่มีดุลบัญชีเกินดุล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งเป็นผลดีจากการวางรากฐานจากอดีตผู้ว่าฯ ธปท. ที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่เจอคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทำให้มีการแสวงหาผลประโยชน์สูงจนเกิดปัญหาประเมินความเสี่ยงไว้ต่ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพต่อเงินทุน ได้แก่ กรณีภาคเอกชนออกหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับความเสี่ยง ซึ่งต้องมีการวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟลามทุ่ง, กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์เกิดปัญหาการทุจริต, กรณีสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการจัดทำนโยบายประชานิยม
นอกจากนี้ยังมีปัญหา 1.หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่จะกลายเป็นระเบิดเวลา การทำธุรกิจที่ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้เกินความจำเป็น ทำให้เกิดปัญหาสินเชื่อเงินทอน ที่ให้วงเงินสูงกว่าความเป็นจริง และ 2.ภัยไซเบอร์
ขณะที่งานด้านพัฒนา ได้แก่ 1.แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบือน ซึ่งมีผลต่อการแข่งขัน ผลิตภาพ และสร้างความเหลื่อมล้ำ เช่น การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรม เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้เหมือนเดิม, การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับต่างประเทศ 2.สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน เช่น ปรับดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยทันสถานการณ์ 3.การสร้างความเป็นเลิศให้องค์กร ให้มีความรอบรู้ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ และ 4.เนื่องจากมีแรงกดดันสูงและกระทบเรื่องผลประโยชน์ ธปท.จึงต้องมีมาตรการดูแลขวัญและกำลังใจของบุคลากร