แนะรัฐรับมือ stagflation ชี้มีสัญญาณเสี่ยงข้างหน้า

06 เม.ย. 2565 | 06:39 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2565 | 13:39 น.

กูรูประสานเสียง เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะ stagflation แต่มีสัญญาณเสี่ยงในระยะข้างหน้า ห่วงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ฉุดกำลังซื้อในประเทศ ลามเศรษฐกิจชะลอตัว ด้านสศค.ยัน ยังไม่เห็นสัญญาณ มั่นใจเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง

stagflation กำลังถูกพูดถึงในระบบเศรษฐกิจไทยจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาฝืดเคืองท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

ภาวะ stagflation ถือเป็นฝันร้ายในทางเศรษฐกิจ เพราะการที่คนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ จะทำให้เกิดการรัดเข็มขัดไม่อยากบริโภค ผู้ประกอบการจะขายสินค้าได้ลดลง ทำให้ไม่เกิดการจ้างงานหรือลงทุนขยายกิจการ และในท้ายที่สุดอาจต้องปลดคนงานออก

แนะรัฐรับมือ stagflation  ชี้มีสัญญาณเสี่ยงข้างหน้า

ล่าสุดรองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจให้เตรียมรับมือกับ stagflation ที่กำลังจะมา

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิด stagflation มากกว่าที่จะบอกว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ stagflation แต่เสนอรัฐบาลประคองสถานการณ์ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางผ่านพ้นไปได้อย่างน้อย 3 เดือน  ขณะที่สศค.ชี้ว่า ยังไม่เห็นสัญญาณ ที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะ stagflation     

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ภาวะ stagflation ซึ่งเป็นนิยามที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เรียก ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 1970s ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันถึง 5 ไตรมาส เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2 หลัก ขณะที่อัตราการว่างงานสูงถึง 9% ในช่วงปี 1975

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดจากการที่สมาชิกกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันหรือ OPEC รวมกลุ่มกันลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จนกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอย่างรุนแรง

 

หากพิจารณาบริบทของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน แม้จะมีแรงกดดันของพลังงาน การปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง แต่ระดับความรุนแรงยังน้อยกว่าในช่วง 1970s ค่อนข้างมาก ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจ แม้จะชะลอลง แต่ยังคงอยู่ใกล้กับระดับศักยภาพการเติบโต ส่วนตลาดแรงงานหลายๆ ประเทศก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างตึงตัวจากปัญหาโควิด-19

 

“การพูดถึง stagflation ในปัจจุบัน น่าจะเป็นการพูดถึง ความเสี่ยงหรือความกังวลที่จะเกิด stagflation มากกว่าที่จะบอกว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ stagflation จริงๆ” นายอมรเทพกล่าว

 

ทั้งนี้ หากแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ยังมีทิศทางปรับสูงขึ้น ธนาคารกลางต่างๆ ในภูมิภาคปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างพร้อมเพรียงมีโอกาสที่ธปท. จะเริ่มพิจารณาถึงความเหมาะสมของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นในการประชุมรอบท้ายๆ ของปีนี้

 

ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยกรุงไทยระบุว่า หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีภาวะเสี่ยงชะลอตัวและเงินเฟ้อสูง จึงมีความเสี่ยงสู่ภาวะ stagflation ซึ่งรัฐบาลพยายามรับมือเบื้องต้น ลดผลกระทบประชาชน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะงักงัน ซึ่งภาครัฐอาจต้องคุมต้นทุนให้ค่าโดยสาร ค่าครองชีพผ่านไปให้ได้ 3 เดือน เพราะภาวะ stagflation อยู่นอกเหนือการควบคุม

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยกรุงไทย

 

ขณะที่นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังคงให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจโดยคาดว่ายังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบาย แม้เงินเฟ้อจะสูงกว่ากรอบเป้าหมายเพื่อช่วยภาคครัวเรือนและต้นทุนภาคธุรกิจ  หากดูต่างประเทศที่เจอเงินเฟ้อสูงเริ่มเห็นสัญญาณดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อไปการใช้จ่ายจะชะลอตัว ซึ่งเมืองไทยดัชนีความเชื่อมั่นเริ่มแกว่งซึ่งรัฐบาลอาจช่วยคุมได้ เพราะหากปล่อยให้ไปถึงจุดนั้นเศรษฐกิจจะชะลอตัว

 

ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวชผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณ stagflation ขึ้นในไทย ซึ่งคำว่า stagflation มาจากคำ 2 รวมกัน ได้แก่ stagnation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือเศรษฐกิจซบเซา รวมกับคำว่า inflation หรือ ระดับราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพ ดังนั้นการเกิดภาวะ stagflation จะต้องดูองค์ประกอบของ stagnation และ inflation ว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่

นายพรชัย ฐีระเวชผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

 

หากดู stagnation จะต้องเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาสเป็นอย่างน้อย แต่จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ 1.9% ขณะที่ไตรมาส 1/65 ยังมั่นใจว่า เศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ ส่วนตัวเลขการว่างงานในไตรมาส 4/64 ก็ดีขึ้นอยู่ที่ 1.64% ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.25% ในไตรมาส 3/64 ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ไม่เข้าเงื่อนไข stagflation

 

ส่วนภาวะเงินเฟ้อ หมวดราคาสำคัญคือ ราคาพลังงานและอาหารสด ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง แต่ราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง ล่าสุดกระทรวงพลังงานก็ได้เสนอ 10 มาตรการดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงยังมีมาตรการในการกำกับดูแลราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,770 วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2565