นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี (GDP) ปี 2565 ลงมาขยายยตัวได้ในกรอบ 2.5% ถึง 4.0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5-4.5%
ส่วนการส่งออกคงประมาณการว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในกรอบ 3.5% ถึง 5.5% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.0-3.0%
ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มทะยานสูงขึ้น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง ความตึงเครียดดังกล่าวกดดันให้อุปทานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีทิศทางตึงตัว โดยทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ในกลุ่มเกษตรและกลุ่มโลหะก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน โดย OECD ประเมินว่า วิกฤตรัสเซียและยูเครนจะทำให้เศรษฐกิจโลกโตน้อยลงกว่าเดิมกว่า 1% และทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 2.5% จากที่ประเมินไว้ก่อนเกิดวิกฤติ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ระลอกใหม่ในจีนที่ทำให้หลายพื้นที่ต้องล็อกดาวน์ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การล็อกดาวน์พื้นที่ในจีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่น้อยลงกว่าเดิม
รวมทั้งอาจเกิดภาวะ supply chain disruption ที่รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้หลายประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตลดลงเช่นกัน รวมถึงตลาดการเงินเริ่มกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปี คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.9% เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ดังนั้น แม้ว่าวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยตรงไม่มากนัก
แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะหากไปทำให้ราคาอาหารสดและราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"เศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงรอบด้าน แต่ยังคาดว่าจะเติบโตได้ ความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยู่กับโควิด-19 แบบเป็นปกติมากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ ที่ประชุม กกร. จึงมีมติให้ปรับลดจีดีพี ดังกล่าว"