การเคลื่อนไหวของหุ้น บมจ. ดิทโต้ (ประเทศไทย) หรือ DITTO ที่วิ่งขึ้นอย่างร้อนแรง โดยนับตั้งแต่ต้นปี 65 ถึงปัจจุบัน ( 4 ม.ค.-5 เม.ย.65 ) ราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 142.48% และหากนับจากที่หุ้น DITTO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ( MAI )เมื่อวันที่ 6 พ.ค.64 เสนอขาย IPO ที่ 7.50 บาท ราคาปรับขึ้นมามากกว่า 813.33% ขณะที่ค่า P/E แตะ 180.22 เท่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่หุ้น DITTO เพิ่มความร้อนแรง มาจากการที่ นาย ธีระชัย รัตนกมลพร ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้ง DITTO เข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง 11.76% ใน บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะซินเนอร์ยี่ทางธุรกิจ
รวมถึงการที่มีชื่อ 2 นักลงทุนวีไอ คือ นายสถาพร งามเรืองพงศ์ หรือ “เซียนฮง” และ นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือ “เสี่ยปู่” เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน DITTO อันดับ 4 และ 5 ในสัดส่วน 4.96% และ 3.71% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี มองด้านแผนขยายธุรกิจของบริษัทปีนี้ นับเป็นอีกปีที่ท้าทาย โดยเฉพาะการรักษาอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องจากฐานปี 64 ที่เคยสร้างสถิติทำกำไรสูงสุด
ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจ"ดิทโต้"ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลักได้แก่
ตุนแบ็คล็อกQ1 แน่น 1,578 ล้านบาท
นาย ฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดิทโต้ (ประเทศไทย) (DITTO) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ภาพรวมธุรกิจของบริษัทปีนี้ ตั้งเป้าเติบโตไม่น้อยกว่า 20% และรักษาอัตรากำไรให้อยู่ระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว จากปริมาณงานในมือ (Backlog) ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 65 มูลค่าราว 1,578 ล้านบาท สามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ 900 ล้านบาท
แยกเป็นธุรกิจให้บริการระบบริหารจัดการเอกสาร ฯ (ธุรกิจกลุ่ม 1 ) ราว 424 ล้านบาท และเป็นธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยี (ธุรกิจกลุ่ม 2 ) อีก 1,154 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นงานที่เพิ่มเข้ามาในช่วงไตรมาส1/65 ราว 695 ล้านบาท งานทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจถือเป็นโอกาสของบริษัท เนื่องจากเป็นเมกะเทรนด์ของตลาดทั้งคู่
"แบ็คล็อกดังกล่าว คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 900 ล้านบาท ยังไม่นับรวมรายได้ที่เกิดจากกลุ่มธุรกิจที่ 3 รวมถึงงานประมูลที่เข้ามาใหม่ช่วง 9 เดือนหลัง ทำให้เรามั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตมากกว่าปีที่แล้ว โดยในกลุ่มงานธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยี น่าจะสร้างรายได้ประมาณ 45% จากพอร์ตรวม หรือเติบโต 40% เป็น 600 ล้านบาท จากแบ็คล็อกที่เข้ามาในปีนี้ เทียบจากฐานปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 300 ล้านบาท ส่วนธุรกิจบริการระบบริหารจัดการข้อมูลและเอกสาร จะเป็นหัวหอกธุรกิจคาดโต 20% " นายฐกร กล่าว
พร้อมย้ำว่า ปีนี้กลุ่มธุรกิจที่ 1 น่าจะเติบโตโดดเด่น เนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญ ในเรื่องบริหารจัดการระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Document Management Solutions ) จากการแปลงเอกสารกระดาษมาเป็นระบบดิจิทัล กลุ่มเป้าหมายมุ่งขยายฐานงานประมูลในภาครัฐ เช่น หน่วยงาน อบจ., อบต., ที่มีมากกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ
จ่อลุยโปรเจ็กต์ใหม่ "จัดเก็บข้อมูลใบประทวน ธ.ก.ส."
ล่าสุด ดิทโต้ ได้เสนองาน โครงการพัฒนาการจัดเก็บเอกสารและข้อมูลใบประทวนสินค้าตามโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร ให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส ) มูลค่า 45 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเริ่มต้น เพราะยังมีเอกสารการจำนำข้าวที่เป็นใบประทวนหลายล้านชุด ที่ต้องจัดทำเป็นดิจิทัล เพื่อความสะดวกในการค้นหา คาดจะทราบผลประมูลภายในเดือน เม.ย.นี้
รวมถึงการขยายต่อในโครงการของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ในการนำหลังโฉนดที่ดินเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ เฟสแรกดำเนินการไปแล้ว 3 ล้านแปลง ใน 6 จังหวัด คือกรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา สิงห์บุรี เพชรบุรี จากที่ดินทั่วประเทศทั้งหมดที่มีกว่า 33 ล้านโฉนด และ นส.3ก จำนวน 5 ล้านโฉนด ซึ่งเชื่อว่ากรมที่ดินจะมีนโยบายต่อเนื่อง ในการนำหลังโฉนดที่ดินที่เหลืออีก 48 ล้านแปลง เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทฯคาดว่าจะได้งานส่วนนี้เพิ่มช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
นอกจากนี้ยังมีลูกค้าส่วนงานราชการ อาทิ ศาล กรมศิลปากร หอสมุดแห่งชาติ กรมตำรวจ โรงพยาบาล ที่ต้องการให้บริษัทฯจัดระบบเอกสารไปสู่ Digital File หรือในส่วนภาคเอกชน ที่เป็นลูกค้าของบริษัท ฯ อาทิสถาบันการเงิน ปูนซิเมนซ์ไทย เซ็นทรัลกรุ๊ป ธุรกิจประกัน เป็นต้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิทโต้ กล่าวว่า ปัจจุบันฐานลูกค้าของบริษัทเป็นภาครัฐสัดส่วน 60% และที่เหลืออีก 40% เป็นเอกชน ซึ่งจากข้อมูล" ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน" ระบุถึงมูลค่าตลาดการจัดการข้อมูลดิจิทัลในปี 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 11,886.6 ล้านบาท โดยเป็นส่วนงานที่มาจากภาครัฐ มูลค่ากว่า 9,500 ล้านบาท ดังนั้นฐานลูกค้าภาครัฐจึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก
ต่อยอดโครงการ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้
ดิทโต้ ยังได้ต่อยอดใน โครงการป้องกันปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ Cyber Security จากที่ได้ดำเนินการให้กับธนาคารกรุงไทย ในโครงการ Hybrid CSOC (Cyber Security Operations Centre) มูลค่าโครงการ 990 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ในนามธุรกิจค้าร่วม ADGM ดิทโต้ ถือหุ้น 40% มูลค่าราว 400 ล้านบาท ครอบคลุมดำเนินการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงการจัดหาบุคลากรและปรับปรุงกระบวนการทำงานและสถานที่ในการปฏิบัติงานเพื่อรับมือและป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์
“จากความต้องการด้านระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ดิทโต้ มีธุรกิจหลักด้านการบริหารจัดการข้อมูล ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้ให้บริการชั้นนำของประเทศ จึงพัฒนาต่อยอด เพราะเห็นถึงความสำคัญ ประกอบกับนโยบายของแบงก์ชาติ ทำให้ทุกธนาคารต้องวางระบบป้องกันภัยไซเบอร์ จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะรุกขยายฐานไปยังกลุ่มบริษัทต่าง ๆรวมถึงธุรกิจการเงิน ” นายฐกร กล่าว
เดินหน้าโครงการคาร์บอนเครดิต
นอกจากนี้แผนธุรกิจปี 2565 บริษัทยังศึกษาโครงการคาร์บอนเครดิต โดยการพิจารณาเข้าร่วมกับภาครัฐหรือภาคเอกชนในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกป่า ขณะเดียวกันยังเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดจากโครงการคัดแยกขยะที่บริษัททำมาต่อเนื่องอยู่แล้ว
สำหรับผลดำเนินงานปี 64 ดิทโต้และบริษัทย่อย สามารถสร้างสถิติใหม่ในการทำกำไรสูงสุด โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 1,090.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.2 ล้านบาท หรือเติบโต 11% จากปี 63 มีกำไรสุทธิ 200.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.5 ล้านบาท หรือเพิ่ม 76% จากปี 63
แต่หากคำนวณกำไรสุทธิ โดยไม่นับรวมกำไรจากเงินลงทุน 38.8 ล้านบาท กำไรสุทธิบริษัทปี 64 จะเท่ากับ 161.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 42% จากปี 63