ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดธปท.เริ่มส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนกนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกไตรมาส 3 ปี66
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือSCBT เปิดเผยว่า คงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อเศรษฐกิจไทย โดยคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ไว้ ที่ 3.3%แม้ว่าตอนนี้ตลาดกำลังปรับลดประมาณการ
SCBTมองไปข้างหน้าคาดหวังว่าครึ่งปีหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจาก 3องค์ประกอบคือ แนวโน้มภาคท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัว ขณะที่คนไทยน่าจะปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 สามารถออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และถ้าข้อเสนอจากหลายหน่วยงานเกิดขึ้นจริงก็จะมีการกระตุ้นจากภาครัฐ
ทั้งนี้ ประมาณการจีดีพีที่ 3.3% ไม่ได้รวมมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าจะมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐหรือไม่ แต่เราติดตามว่าข้อเสนอของหน่วยงานอื่นๆว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่กว่า 60% จึงมีรูมในการก่อหนี้ซึ่งกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 70%ต่อจีดีพี
“งานหลักสำคัญในปี 2565 คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวในปี 2566 การที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องนั้น รัฐบาลอาจต้องเข้ามาช่วยผลักดันมาตรการและนโยบายต่างๆ และหากมองว่าการกู้เงินเพิ่มเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพมีความจำเป็น ประเทศไทยก็ยังพอมีความสามารถที่จะกู้เงินเพิ่มได้อีก”
ดร.ทิมกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในรอบเดือนมิ.ย.นี้มีความสำคัญ โดยคาดว่า กนง. น่าจะส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ขาขึ้นแต่กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%ต่อปีไปจนถึงกลางปี2566 ก่อนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกประมาณไตรมาสที่ 3ปี 2566
อย่างไรก็ตาม การที่กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายนั้น เพราะแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มต่อเนื่อง ขณะเดียวกันดุลยัญชีเดินสะพัดยังถูกกดดันจากราคาน้ำมัน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเข้ามาน้อยคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 4ล้านคน ซึ่งทางธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้ปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อปีนี้เป็น 4.5% ราคาน้ำมันเบรนท์อยู่ในระดับ 80ดอลลาร์ต่อบาเรลตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราสูงกว่าปีที่แล้วอยู่ที่ 70ดอลลาร์ต่อบาเรล
พร้อมปรับลดประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยลงเป็น 0.5%ของจีดีพี(เดิมมองว่าจะเกินดุล1.5%)หรือประมาณ 2,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดีกว่าปีที่แล้วที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูง
“ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ดีมานด์โลกด้วย เพราะไม่แน่ใจเศรฐกิจจีน และเศรษฐกิจสหรัฐหลังดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอหรือไม่ และต้องให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยได้ก่อน ธปท. จึงจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างไม่เป็นกังวล”
อย่างไรก็ดี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งละ 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม ตามด้วยเดือนมิถุนายนอีก 0.50%ก่อนที่จะปรับขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม
“ครึ่งปีหลังยังมองสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ยังปกติไม่มีความเสี่ยง โดยน่าจะผ่านการพิจารณางบประมาณปี 2566 น่าจะไม่สะดุดและเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะเริ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลใหม่จะเข้ามาโดยมีงบประมาณใช้จ่ายได้ สำหรับค่าเงินดอลลาร์/บาท ไตรมาส2 น่าจะอ่อนค่ากว่า 33บาทต่อดอลลารจากนั้นจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้นต่อไปอยู่ที่ 32บาทต่อดอลลาร์ปลายปีนื้