จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบฯลฯ นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แนวโน้มค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฉบับนี้ จะนำความสัมพันธ์ของดัชนีชี้วัดต้นทุนผู้ผลิตได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (Production Price Index: PPI) และดัชนีชี้วัดค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) มาทำการประเมินว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร
จากข้อมูลภาพรวม ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) จะพบว่า แม้ PPI มีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กลับมีการปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประมาณ 6-7 เดือน สาเหตุที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับช้ากว่าดัชนีราคาผู้ผลิต เนื่องจากเมื่อต้นทุนผู้ผลิตทยอยเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจะไม่ปรับราคาขายสินค้าโดยทันที
ส่วนใหญ่จะยอมทนแบกรับต้นทุนไปก่อน และรอดูสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของต้นทุนว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากการเพิ่มราคาขายสินค้าในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จะทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายสินค้าลง และอาจทำให้สูญเสียลูกค้าในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตที่อยู่ในกลุ่มผลิตสินค้าจำเป็น (Necessary Goods) ถูกควบคุมราคาจากภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ ต้องรอให้ภาครัฐอนุญาตจึงจะสามารถปรับราคาได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ จนถึงจุดที่แบกรับต้นทุนไม่ไหว ผู้ผลิตก็จะพิจารณาเพิ่มราคาขายสินค้า ซึ่งจะเห็นว่าระดับราคาที่ผู้ผลิตเริ่มรับไม่ไหว อยู่ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ดัชนีราคาผู้ผลิต ปรับเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งการที่ผู้ผลิตตัดสินใจปรับราคาขายสินค้าขึ้น ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค ปรับเพิ่ม 2%
นับจากนั้นก็ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่เห็นแนวโน้มว่าต้นทุนการผลิตจะทรงตัวหรือลดลง และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดัชนีราคาผู้ผลิตภาพรวม ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11% ผู้ผลิตจึงปรับราคาขายสินค้า ส่งผลทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นเป็น 5% จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา ในภาพรวมผู้ผลิตพยายามรักษาอัตราการเพิ่มราคาสินค้าที่ขายแก่ผู้บริโภค (CPI) ต่อต้นทุนการผลิต (PPI) ที่เพิ่มขึ้นไว้ประมาณ 0.5 เท่า
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์การปรับเพิ่มของราคาสินค้าทั้งฝั่งต้นทุนผู้ผลิต (PPI) และฝั่งราคาที่ผู้บริโภคซื้อ (CPI) เป็นรายหมวดสินค้าจะเห็นว่า ต้นทุนผู้ผลิตหมวดพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊ส ต้นทุนผู้ผลิตหมวดเคหะสถาน ได้แก่ เหล็ก และต้นทุนผู้ผลิตหมวดอาหาร ได้ทยอยขยับขึ้นตั้งแต่กลางปี 2564 ที่ผ่านมา โดยราคาพลังงานและราคาเหล็กมีการปรับขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ผลิตพยายามที่จะแบกรับต้นทุนไว้ แต่ก็เริ่มมีการทยอยปรับราคาสินค้าขายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว
หากดูตามหมวดราคาสินค้าผู้บริโภคที่มีการปรับราคาขึ้น จะพบว่าหมวดสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมาก คือ หมวดพลังงานและการขนส่ง และหมวดอาหาร ส่วนหมวดอื่น ๆ ถือว่าราคาสินค้ายังปรับขึ้นไม่มาก
ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ต้นทุนผู้ผลิตในหมวดพลังงาน และหมวดอาหารเพิ่มขึ้น 74.5% และ 6.9% ผู้ผลิตได้ปรับราคาสินค้าขาย ส่งผลทำให้ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค ในหมวดพลังงาน และหมวดอาหารปรับขึ้น 11.3% และ 3.6% ซึ่งการเพิ่มราคาสินค้าใน 2 หมวดนี้ (สัดส่วนพลังงานและอาหารในตระกร้าดัชนีราคาผู้บริโภครวมเท่ากับ 60%)
ส่งผลทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคในภาพรวมปรับเพิ่ม 5% แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตใน 2 หมวดสินค้าดังกล่าว มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนค่อนข้างมาก
ฉะนั้น ด้วยความสัมพันธ์ของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคนี้ พอจะประเมินทิศทางได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ มีโอกาสอย่างยิ่งที่ค่าครองชีพของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจาก
จะเห็นว่าการนำความสัมพันธ์ของดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มาเชื่อมโยงการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตไปยังค่าครองชีพของประชาชน สามารถสรุปได้ว่า ต้นทุนพลังงานและอาหารเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนค่อนข้างมาก เพราะมีการส่งผ่านราคาได้ค่อนข้างเร็ว เมื่อเทียบกับหมวดสินค้าอื่นๆ
ดังนั้น การดำเนินนโยบายในการแก้ปัญหาค่าครองชีพควรพุ่งเป้าให้ความสนใจที่จะทำอย่างไรให้การส่งผ่านต้นทุนพลังงานและอาหารของผู้ผลิตไปยังราคาสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อ ให้มีอัตราการส่งผ่านของราคาไม่มากเกินไป รวมถึงดึงเวลาการส่งผ่านให้ช้าที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาในการปรับตัวกับแนวโน้มค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปี 2565 นี้นั่นเอง